รีเซต

ก้าวแรกของการเดินทางไกลครั้งใหม่ของจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ก้าวแรกของการเดินทางไกลครั้งใหม่ของจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
18 กรกฎาคม 2564 ( 15:15 )
62


ในขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศยังคงมึนงงกับพิษโควิด-19 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกล้วนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จนหลายประเทศต้องปรับตัวเลขเป้าหมายลงกันเป็นแถว แต่ดูเหมือนเศรษฐกิจจีนยังคงพุ่งทะยานต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ ...

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ว่าขยายตัวที่ 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

หากพิจารณาจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของปี 2020 และปี 2021 ก็พบว่า เศรษฐกิจจีนในครึ่งปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าพึงพอใจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเปราะบาง

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน การค้าปลีกของจีนเพิ่มขึ้น 12.1% จากปีก่อน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ห่วงโซ่อุปทานในจีนเต็มไปด้วยประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น ก็เติบโต 8.3% จากปีก่อน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย ซึ่งส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบ อาทิ แร่เหล็กและทองแดง และการฟื้นตัวของตลาดภายในประเทศ



ขณะเดียวกัน การส่งออกของจีนก็ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นถึง 32.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทำให้จีนยังคงเพิ่มการเกินดุลการค้าอยู่ต่อไป แม้ว่าจีนจะเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ แต่การเกินดุลการค้าของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเช่นเดิม 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่การกดดันที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อสินค้าส่งออก และค่าเงินหยวนของจีนในอนาคต 

จีนยังได้แสดงท่าทีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และความไม่สมดุลของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางด้าน กอปรกับการตรวจพบการระบาดของโควิด-19 ที่มณฑลกวางตุ้งและยูนนานในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และยังสะท้อนว่าการเปิดให้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประเทศจะไม่เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น

ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานในชุมชนเมืองก็ยังรักษาระดับที่ 5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ขณะที่อัตราการว่างงานของกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ก็เพิ่มขึ้นแตะ 15.4% ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่สูงมากในมาตรฐานของจีน

รัฐบาลจีนเองก็ดูจะไม่พอใจกับโครงสร้างการเติบโตที่ขาดสมดุลดังกล่าว จนหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนจะออกมาตรการทางการเงินการคลังใหม่ตามมาอีกหลายระลอก และดูเหมือนจีนจะไม่รอช้าให้เสียการใหญ่ด้วย

นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมมากมายทั่วจีนเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แบ้งค์ชาติจีนได้ประกาศลดสัดส่วนสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ครั้งใหม่ ซึ่งประเมินว่าจะเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจีนถึงราว 1 ล้านล้านหยวน และหากไม่มากพอ จีนก็อาจปรับลดสัดส่วนฯ ดังกล่าวอีก เพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนในทรัพย์สินคงที่



หากมองภาพในระยะยาว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนับแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ยังคงดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยหากเปรียบเทียบรายไตรมาสแล้วก็พบว่า โมเมนตัมทางเศรษฐกิจในภาพรวมของจีนยังคงขยายตัวดี และอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม

รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2021 ไว้ที่ 6% ของปีก่อน ซึ่งหากพิจารณาอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ก็คาดว่า จีนก็จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างแน่นอน คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตมากกว่า 8% ได้มากน้อยเพียงใด 

องค์การระหว่างประเทศและเศรษฐกรชั้นนำของโลกต่างแสดงความเชื่อมั่นอย่างสูงต่อการรักษาโมเมนตัมของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ 

โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World Bank) ยังปรับตัวเลขเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ จาก 8.1% เป็น 8.5% เทียบกับของปีก่อน ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ก็ประเมินไว้ที่ 8.4% ของปีก่อน 

ขณะเดียวกัน บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง KPMG ก็คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของจีนไว้สูงถึง 8.8% เมื่อเทียบกับของปีก่อน โดยมีภาคการบริโภคและบริการ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนของภาคเอกชนจะเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของจีน



ย้อนกลับไปในปี 2012 จีนเริ่มเติบโตในดุลยภาพใหม่ที่ต่ำกว่า 8% ดังนั้น ณ ระดับการเติบโตมากกว่า 8% ในปีนี้จะถือเป็นอัตราที่สูงสุดของเศรษฐกิจจีนในรอบเกือบทศวรรษ แต่จะเพิ่มบทบาทในการช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูงขึ้นมาก

ขณะเดียวกัน โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตในเชิงคุณภาพ และเปิดกว้างบนพื้นฐานของความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น ก็ทำให้จีนต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะกลางที่รออยู่ อาทิ โครงสร้างประชากร การขยายของผลิตภาพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และโครงสร้างการผลิตที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

แต่หากมองในเชิงบวก ความมุ่งหวังในการบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว ก็จะขยายโอกาสด้านการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่แก่ผู้ประกอบการต่างชาติด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นหลายประเทศในยุโรปต้องการประสานความร่วมมือในเชิงลึกกับจีน แทนที่จะวางตัวเป็นศัตรู 

ในช่วง 15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็หมายความว่า ขนาดเศรษฐกิจจีนจะเพิ่มขึ้นราวหนึ่งเท่าตัว และพุ่งขึ้นแตะ 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2035

ย่างก้าวแรกของการเดินทางไกลครั้งใหม่สู่ความเรืองรองของจีนเริ่มต้นขึ้นอย่างมั่นคง จนผมอดคิดต่อไม่ได้ว่า หากสถานการณ์ยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจจีนจะขึ้นทาบสหรัฐฯ ก่อนสิ้นทศวรรษนี้จะแล้ว ... 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง