รีเซต

นักดริงก์คึกคัก กทม.ไฟเขียวนั่งดื่มถึง 5 ทุ่ม เริ่ม 1 ธ.ค.

นักดริงก์คึกคัก กทม.ไฟเขียวนั่งดื่มถึง 5 ทุ่ม เริ่ม 1 ธ.ค.
มติชน
30 พฤศจิกายน 2564 ( 08:15 )
26
นักดริงก์คึกคัก กทม.ไฟเขียวนั่งดื่มถึง 5 ทุ่ม เริ่ม 1 ธ.ค.

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร ผ่อนคลายให้ร้านอาหารสามารถให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ถึงเวลา 23.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยอนุญาตให้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ในระดับ SHA ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือตามมาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโรคโควิด-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid Plus) ของกรมอนามัย สำหรับกิจกรรมการเล่น หรือแข่งขันที่ได้รับการผ่อนปรนตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ผ่อนปรนได้ แต่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ และอาบอบนวด ยังคงปิดให้บริการ

 

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคม ชมรม เครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ เพื่อหาแนวทางเยียวยา โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตัวแทนกลุ่มธุรกิจกลางคืน

 

ภายหลังการประชุมนายสุชาติกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตนกลุ่มกิจการที่ได้รับผลกระทบ (กลุ่มการบริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นหลักในร้าน) มีนายจ้าง 697 แห่ง ผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 8,365 ราย ผู้ประกันตน ม.33 ใช้สิทธิว่างงานสุดวิสัย ตั้งแต่เดือนมกราคม ตุลาคม จำนวน 7,303 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 40 กลุ่มนักดนตรี นักร้อง 19,060 ราย นักแสดง นักเต้น 4,111 ราย รวม 23,171 ราย ได้รับเงินเยียวยาช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เดือนละ 5,000 บาท ขอยืนยันว่าการเยียวยามีแน่นอน แต่ต้องไปเตรียมตัวเลขของผู้ที่ต้องการให้เยียวยา ซึ่งสมาคมนักดนตรีจะกลับไปเก็บตัวเลขจำนวนผู้ประกอบอาชีพกลุ่มธุรกิจกลางคืน และมาประชุมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในวันที่ 3 ธันวาคม การช่วยเหลือครั้งนี้ จะต้องรวดเร็วและครอบคลุมทุกอาชีพในกลุ่มธุรกิจบันเทิงกลางคืน

นายสุชาติกล่าวว่า แนวทางช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้เวลาลงทะเบียนโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานต่ออีก 1 เดือน กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยากรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 และจ่ายเยียวยาเพิ่มอีก 5,000 บาท (โครงการ ม.33 เรารักกัน) กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาโดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรองมาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง