รีเซต

มรดกการทูตไทยในละโว้ มองอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน

มรดกการทูตไทยในละโว้ มองอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน
มติชน
28 กันยายน 2563 ( 04:49 )
76

รถบัสกำลังวิ่งไปบนทางด่วนสายปางปะอินเมื่อ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกริ่นกับพวกเราว่า เหตุการณ์ที่นายเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ หัวหน้าคณะราชทูตฝรั่งเศส ยืนถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดขึ้นที่อยุธยาไม่ใช่ลพบุรี และท้าวทองกีบม้าไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นประดิษฐ์ขนมทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง อย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกัน

 

เพียงแค่ 2 เรื่องนี้ก็ทำให้คนที่ไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และคนที่เชื่อว่าเรื่องราวที่บอกต่อๆ กันมาเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงอย่างพวกเราหลายคนเกิดความสงสัยและรู้ได้ทันทีว่า การร่วมเดินทางมาสำรวจ “เส้นทางวัฒนธรรมกับการทูตไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” ที่จัดโดยกองวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ในครั้งนี้ จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เราได้รับรู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในช่วงหนึ่งที่ถือได้ว่า เป็นช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์และมีสีสันที่สุดของการทูตไทยในแผ่นดินอยุธยาอย่างแท้จริง

 

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ เล่าว่า ก่อนหน้านี้งานของกองวัฒนธรรมที่อยู่ในกรมสารนิเทศ มักจะเน้นไปที่การเผยแพร่อำนาจละมุนของไทย หรือการทำกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมิตรประเทศผ่านมิติด้านวัฒนธรรมอันหลากหลาย แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เรามองย้อนกลับมาดูเรื่องต่างๆ ที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของไทยมากขึ้น และเห็นว่าการมองกลับมาข้างในก็ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงของไทยกับต่างประเทศได้เช่นกัน

 

คณะของเราเริ่มต้นจากการเยี่ยมชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตและการต่างประเทศในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อจ.ปรีดีได้ชี้ชวนให้เราดูสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งแต่พระที่นั่งทรงไทยแท้ ไปจนถึงการผสมผสานศิลปะแบบเปอร์เซียใน “ซุ้มโค้งแหลม” ทั้งที่ประตูและช่องหน้าต่างซึ่งถือว่าเกิดขึ้นที่ลพบุรีเป็นที่แรก หรือการจัดทำช่องประทีปบนกำแพงเมืองและกำแพงในวังที่ว่ากันว่ามีมากถึง 2,800 ช่องสำหรับจุดเทียนในยามค่ำคืน การประดับตกแต่งพระที่นั่งต่างๆ ด้วยกระจกและแชนเดอเลียจนงดงามไม่แพ้ปราสาทราชวังในชาติตะวันตก ไปจนถึงน้ำตกและน้ำพุ ทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติและนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยได้อย่างกลมกลืน

 

เมื่อมาถึงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ซึ่งเป็นสถานที่ที่เสด็จออกรับแขกเมือง อจ.ปรีดีได้อธิบายให้เราทราบว่า ด้วยความที่สีหบัญชรที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้ประทับเมื่อเสด็จออกให้ราชทูตต่างชาติเข้าเฝ้ายังคงสภาพอยู่ให้ได้เห็น ซ้ำในอดีตมีการนำเอาภาพวาดการถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ของนายเดอ โชมองต์ มาวางไว้ที่ด้านล่าง คนจึงเข้าใจไปว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ พระที่นั่งแห่งนี้ ทั้งที่จริงการเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นจากผู้แทนต่างชาติทั้งหมดจะทำที่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

 

อจ.ปรีดีมองว่า การถวายพระราชสาส์นของเดอ โชมองต์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การทูตสมัยใหม่ของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคิดที่เปลี่ยนไปของราชสำนักสยาม ผลงานที่เด่นชัดที่สุดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคือทรงเป็นผู้นำการทูตสากล เปิดโลกให้ทั้งสองฝ่ายได้รู้จักกัน คือทำให้สยามรู้จักตะวันตก และทำให้โลกตะวันตกรู้จักสยามและความเป็นไทยมากขึ้นมากที่สุด ทรงเปิดประตูให้ยุโรปเห็นว่าสยามมีวัฒนธรรมและความรุ่งเรืองเพียงไร

 

อจ.ปรีดีเล่าอย่างออกรสว่า คณะราชทูตสยามที่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นำโดยออกพระวิสุทธสุนทร ซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ที่คนไทยเรียกว่าพระยาโกษาปาน ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คณะราชทูตไทยได้รับความสนใจในทุกๆ เมืองที่เดินทางไปราวกับเป็นโอปป้าในยุคนี้ก็ไม่ปาน ขณะที่ในบันทึกของชาวต่างชาติต่างก็ชื่นชมราชทูตไทยว่าเป็นคนเฉลียวฉลาด มีไหวพริบ และเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังโปรดให้สร้างเหรียญที่ระลึกถึงการเข้าเฝ้าของราชทูตสยาม ซึ่งการทำเหรียญที่ระลึกเช่นนี้มีน้อยครั้งมาก และได้นำมาจัดแสดงให้ได้ชมที่พระที่นั่งจันทรพิศาล ที่บอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับโลกตะวันตก

 

จากนั้นเราได้ไปเยี่ยมชมพระที่นั่งเย็น ที่ประทับนอกเมืองของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สถานที่ที่พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรปรากฎการณ์จัทรุปราคา ซึ่งแสดงถึงความสนพระทัยเรื่องดาราศาสตร์แบบโลกตะวันตก โดยมีบาทหลวงนักดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเป็นผู้ถวายงาน อจ.ปรีดีบอกว่า ลพบุรียังเป็น 1 ใน 3 เมืองร่วมกับกรุงปารีสของฝรั่งเศส และกรุงปักกิ่งของจีน ที่มีการสร้างหอดูดาวขึ้นพร้อมกันทั้ง 3 จุด เพื่อใช้ในการลากเส้นรุ้งเส้นแวง โดยในบันทึกที่มีในฝรั่งเศสระบุชัดว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากตะวันออก ซึ่งหมายถึงสยามและละโว้ หรืออยุธยาและลพบุรีนั่นเอง

 

จุดสุดท้ายที่เราเยี่ยมชมคือบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ คอนสเตนติน ฟอลคอน สามีของ นางมารี กีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า ชาวต่างชาติที่ชีวิตดูจะมีสีสันจัดจ้านมากที่สุดคู่หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งด้วยชีวิตที่ขึ้นจนสู่จุดสูงสุดจนเป็นถึงรักษาการสมุหนายกและตกต่ำจนถึงถูกประหารของฟอลคอน ขณะที่ท้าวทองกีบม้าก็กลายเป็นบุคคลที่คนไทยจำนวนหนึ่งถึงกับตั้งสมญาว่าเป็น “ราชินีแห่งขนมไทย” ซึ่งอจ.ปรีดีค้านอย่างจริงจังว่า ความเข้าใจนั้นไม่น่าจะถูกต้อง จากบันทึกของชาวต่างชาติที่เคยมาเมืองละโว้ระบุเพียงว่านางได้ช่วยสามีจัดงานเลี้ยงรับรองแขกต่างชาติ และอาหารที่เธอทำได้ดีคือสตูว์ญี่ปุ่น ไม่เคยบอกว่าทำขนมแต่อย่างใด ขณะที่ขนมทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทองนั้นแพร่หลายในหมู่ชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวต่างชาติชาติแรกๆ ที่มาพำนักและค้าขายกับกรุงศรีอยุธยามานมนานแล้ว

 

อจ.ปรีดีบอกกับเราว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง เพราะในสมัยนั้นเราไม่รู้เลยว่าชาติตะวันตกเขาคิดอย่างไรกับเรา อาศัยเพียงแต่ช่องทางทางการทูตเท่านั้น โกษาปานจึงน่าจะเป็นนักการทูตที่เก่งกาจที่สุดของสยาม ชาติตะวันตกรู้จักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในช่วงศตวรรษที่ 17 บันทึกที่เขียนถึงพระองค์เป็นไปในทางเดียวกันคือทางที่ดี พระองค์ยังเป็นกษัตริย์จากชาติตะวันออกเพียงชาติเดียวที่ถูกบรรจุไว้ในรายพระนามจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ในโลกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าเป็นมหาราช ซึ่งน่าจะเป็นเพราะพระราชกรณียกิจของพระองค์ และกับที่ทรงอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งกับเราและเขาในแผ่นดินสยาม จึงพูดได้ว่าการทูตเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุดในรัชสมัยของพระองค์

 

อธิบดีเชิดเกียรติสรุปถึงการเดินทางในครั้งนี้ว่า ลพบุรีเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างเด่นชัดในเรื่องการเชื่อมโยงของไทยกับต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้เพิ่งเกิดในยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น ก่อนหน้านั้นก็มีการเชื่อมโยงกับเปอร์เซีย ญี่ปุ่น โปรตุเกส และอีกหลากหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นชาติที่เปิดกว้างกับต่างประเทศมานาน ที่สำคัญเรานำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากต่างชาติมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทย เป็นจุดเด่นที่ไทยทำมาตลอดจนถึงปัจจุบัน การติดต่อกับต่างประเทศก็คือการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของเรา ซึ่งเราต้องรู้จักตัวตนของเราให้ดีเสียก่อน และเราสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากประวัติศาสตร์ของเรานั่นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง