ผวจ.นครพนม ชี้ข้อพิพาทเกาะดอนแพง ต้องลงมือทำทันทีและเร็วที่สุด
นครพนม – วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม(ศปก.นพ.) ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธานการประชุม เรื่องติดตามผลการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐฯ โดยมีผู้เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานที่ดินฯ ทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 สาขานครพนม สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฯ ท้องถิ่นจังหวัดฯ โครงการชลประทานนครพนม และ นายดนัย สิทธิวัชระชัย นายกเทศมนตรตำบลบ้านแพง โดยวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับอำเภอเมืองนครพนม,บ้านแพง,ธาตุพนม และอำเภอนาแก เกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ริมฝั่งแม่น้ำโขง
โดยเฉพาะที่ดินเกาะดอนแพง เนื้อที่เกือบ 5 พันไร่ ครอบคลุมพื้นที่บ้านหัวหาด หมู่ 12 ถึงบ้านท่าลาด หมู่ 9 ต.บ้านแพง เขตเทศบาลตำบลบ้านแพง อ.บ้านแพง ระยะทางยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนดินแม่น้ำโขง จนกลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งเหมาะแก่การทำเกษตรทุกชนิด โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืช เช่น ใบยาสูบ มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน ฟักทอง แตงกวา พริก กล้วยฯลฯ
ทั้งนี้ ที่ดินเกาะดอนแพง ตามหลักฐานระบุ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2502 พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล ปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการในหน้าที่ รมว.มหาดไทย มอบหมายให้จังหวัดนครพนม มีอำนาจจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเกาะดอนแพง โดยการจัดให้เช่าเป็นจำนวนเนื้อที่กว่า 2 พันไร่ เพื่อนำรายได้ปรับปรุงบำรุงที่ดินเกาะดอนแพงและท้องถิ่นส่วนจังหวัดฯ โดยเก็บค่าธรรมเนียมเข้าคลังปีละ 20 บาท/แปลง และเกษตรกรต้องไปลงทะเบียนแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทุกปี เพื่อยืนยันตัวตนและต้องแจ้งด้วยว่าปีนี้จะปลูกพืชชนิดไหน เป็นต้น ภายหลังมีนายทุนเข้ามายึดครองที่ดินบางส่วนมากกว่า 60 แปลง แล้วนำไปให้เกษตรกรเช่าในราคาแปลงละ 5,000-7,000 บาท/ปี โดยไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมใดๆให้แก่รัฐ อีกทั้งผิดวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการให้เกษตรกรทำประโยชน์ในที่ดินผืนนี้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ซึ่งในที่ประชุมโดยนายดนัย สิทธิวัชระชัย นายกเ?สมนตรีฯ รายงานความคืบหน้าด้วยการมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้านหมู่ต่างๆ ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายให้เกษตรกร ประชาชน ที่ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ไปลงทะเบียนและลงพื้นที่ชี้แนวเขตที่ดินของตนร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านแพง ที่ผ่านมาได้ร่วมเดินชี้แนวเขตทุกวัน ยกเว้นฝนตกเท่านั้น
ซึ่ง ผวจ.นครพนม สั่งให้แยกระหว่างการที่มีเกษตรกรไปเป็นหนี้กับนายทุน กับการครอบครองที่ดินของรัฐ โดยต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย จึงมอบหมายให้ทางตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมร่วมกับฝ่ายปกครอง เป็นตัวกลางในการเจรจากับนายทุนเพื่อหาข้อสรุปในการชำระหนี้ แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเกษตรกรที่ไปกู้เงินนายทุนมาก็ต้องชำระหนี้คืน ส่วนด้านการชี้แนวเขตการครอบครองที่ดินมอบให้ที่ดินจังหวัดนครพนมร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านแพง โดยกำชับว่าอย่านำเรื่องสองเรื่องมารวมกัน และต้องลงมือทำทันทีอย่างเร็วที่สุด
สำหรับการปรับภูมิทัศน์ถนนสวรรค์ชายโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งเกิดจากดินตะกอนในแม่น้ำโขงเช่นเดียวกัน ก็มีเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม มีความต้องการจะปรับพื้นที่บริเวณด้านหลังโรงแรมเป็นจุดเช็คอิน ชมวิวทิวทัศน์สองฝั้งโขง จึงเสนอจะเป็นผู้ลงทุนในการปรับภูมิทัศน์ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ คือ ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนที่ทางโรงแรมจะได้จากการปรับปรุงพื้นที่ ได้แก่ ความสวยงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาพัก
ด้านแพที่สร้างเป็นที่พักอยู่หน้ารีสอร์ทแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองนครพนม หลังมีคำสั่งให้ปิดเนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านความมั่นคง ผู้ประกอบการจึงลากแพดังกล่าวไปไว้ที่อื่นแล้ว แต่ยังไม่ละความพยายามโดยได้ให้ประธานองค์กรเอกชนแห่งหนึ่ง ประกบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเจรจาขอเปิดบริการให้จงได้ ซึ่งประธานคนนี้ไม่เคยสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม นอกจากตักตวงผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเองเป็นส่วนใหญ่