รีเซต

เช็กก่อนแชร์! แนะสังเกต "ข่าวปลอม" 10 จุด สร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันข่าวปลอม

เช็กก่อนแชร์! แนะสังเกต "ข่าวปลอม" 10 จุด สร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันข่าวปลอม
TNN ช่อง16
6 มีนาคม 2566 ( 12:08 )
72


แนะจุดสังเกต "ข่าวปลอม" 10 จุด สร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันข่าวปลอม


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงใยประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอก ถึงแม้จะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนอยู่ตลอดเวลา แต่มิจฉาชีพได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกลโกง ให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ทำให้ยังมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินให้กับมิจฉาชีพ ซึ่งจากรายงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า 70% ของข่าวสารที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย คือ ข่าวปลอม 


นางสาวรัชดา กล่าวว่า เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้รู้ทันข่าวปลอมผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะบนเฟซบุ๊ก ทางกระทรวงพอจิทัลฯจึงแนะนำให้ประชาชนสังเกตจุดสำคัญ 10 ข้อ ที่มีลักษณะเป็น "ข่าวปลอม"  ดังนี้


1. สงสัยข้อความพาดหัว : ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวหนังสือเด่น ๆ และเครื่องหมายอัศเจรีย์ หากข้อความพาดหัวที่น่าตื่นตระหนกฟังดูไม่น่าเชื่อถือ ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม

2. สังเกตที่ URL : URL หลอกลวง หรือดูคล้ายอาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง เราอาจไปที่เว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบ URL กับแหล่งข่าวที่มี

3. สังเกตแหล่งที่มา : ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน “เกี่ยวกับ” เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม

4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ : เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากเราเห็นสัญญาณเหล่านี้

5. พิจารณารูปภาพ : เรื่องราวข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว เราสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากที่ไหน

6. ตรวจสอบวันที่ : เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์

7. ตรวจสอบหลักฐาน : ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม

8. ดูรายงานอื่น ๆ : หากไม่มีแหล่งที่มาอื่น ๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้ มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง

9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ : บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่

10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม : ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่เราอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่เราแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น


"ขอชวนประชาชนร่วมกันตัดวงจรข่าวปลอม โดยเริ่มต้นจากสังเกตว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอม พิจารณาสาระให้ดี อย่าหลงเชื่อและอย่าแชร์ต่อ กรณีที่ทราบภายหลังว่าได้แชร์ข่าวปลอมไปแล้ว เมื่อทราบข้อมูลจริง ควรบอกต่อด้วย สังคมจะได้รับรู้สิ่งที่ถูกต้อง" นางสาวรัชดา ย้ำ



ภาพ TNNOnline  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง