รีเซต

ปิดตำนาน 36 ปี ห้างดังคลังพลาซ่า

ปิดตำนาน 36 ปี ห้างดังคลังพลาซ่า
มติชน
10 มิถุนายน 2565 ( 06:41 )
126
ปิดตำนาน 36 ปี ห้างดังคลังพลาซ่า

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยเป็นวงกว้าง กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมตามหัวเมืองใหญ่ต่างซวนเซไปตามกัน จากมาตรการควบคุมการเปิดให้บริการอย่างเข้มงวดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้า คลังพลาซ่า ซึ่งเป็นห้างท้องถิ่น จ.นครราชสีมา เปิดให้บริการมานานกว่า 36 ปี ต้องส่งหนังสือถึงพนักงานห้างทุกคน แจ้งว่าจะปิดการให้บริการห้างสรรพสินค้า คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

 

ไพรัตน์ มานะศิลป์ หรือเสี่ยเหลียง รองประธานกรรมการบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด บอกเล่าความเป็นมาของแบรนด์คลังพลาซ่าว่า คลังพลาซ่าถือเป็นห้างท้องถิ่นหนึ่งเดียวของ จ.นครราชสีมา มีทั้งหมด 4 สาขา ประกอบไปด้วย ห้างคลังพลาซ่าอัษฎางค์ คลังพลาซ่าจอมสุรางค์ คลังวิลล่า ถนนสุรนารายณ์ และโปรเจ็กต์ใหม่ คลังสเตชั่น หนองไผ่ล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างหยุดก่อสร้างชั่วคราว

 

เมื่อปีที่แล้วห้างคลังพลาซ่าจอมสุรางค์ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่หลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบต้องปิดให้บริการชั่วคราว ประกอบกับพฤติกรรมคนเดินในห้างเปลี่ยนไป รูปแบบห้างสรรพสินค้าดีพาร์ตเมนต์ที่แยกเป็นแผนกสินค้าต่างๆ ก็ไม่ตอบโจทย์ยุคนี้ ทำให้คลังพลาซ่าต้องปรับตัว มีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และปรับปรุงใหม่ไปในทางที่ดีกว่า เลือกเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยม ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโปรเจ็กต์มัลติยูส หรืออาคารอเนกประสงค์ที่มีหลากหลายธุรกิจมารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น อาภาญา เพื่อผสมผสานกิจกรรมหลายอย่างในพื้นที่ ไม่มีสินค้าต่างๆ เหมือนห้าง โดยมีทีมบริหารจะเป็นชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ

 

ไพรัตน์ ให้เหตุผลถึงการปิดคลังพลาซ่าสาขาล่าสุด ว่าเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ได้ทำหนังสือแจ้งกับพนักงานห้างคลังพลาซ่าอัษฎางค์ว่าห้างจะปิดให้บริการวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ สาเหตุสำคัญที่ต้องปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไทยซบเซาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประสบวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา ทำให้บริษัทขาดทุนสะสมและขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ จนบริษัทตกอยู่ในภาวะวิกฤต แบกรับภาระไม่ไหว แม้กระทั่งค่าไฟฟ้าของห้างต้องจ่ายเดือนละกว่า 6 แสนบาท จึงจำเป็นต้องปิดให้บริการ ซึ่งได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าแล้ว โดยบริษัทพร้อมดูแลพนักงานนับกว่าร้อยคนตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง

 

สำหรับอนาคต คลังพลาซ่าอัษฎางค์ หลังปิดกิจการห้างสรรพสินค้า คุณไพรัตน์ระบุแนวทางว่า จะเปิดให้เช่าพื้นที่อาคารกับผู้ประกอบการ หรือนักลงทุน ใครที่สนใจอยากเช่าก็มาคุยกันได้ โดยจะเปิดให้เช่า จำนวน 3 ชั้น คือ ชั้นใต้ดิน, ชั้น 1 และชั้น 2 ในส่วนที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตและดีพาร์ตเมนต์สโตร์ รวมพื้นที่ จำนวน 8,000 ตารางเมตร หรือจะแยกเช่าพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ เนื่องจากอาคารคลังพลาซ่าเป็นทรัพย์สินสร้างบนที่ดินของตระกูลมานะศิลป์อยู่แล้ว หากมีห้างใหญ่อย่างบิ๊กซี โลตัส จะมาขอเช่าทำซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือเช่าห้างทั้ง 3 สาขา ทั้งคลังพลาซ่าอัษฎางค์คลังวิลล่า และคลังสเตชั่น ก็พร้อมเปิดให้เช่าทั้งหมด เพราะห้างคลังพลาซ่าอัษฎางค์ และคลังวิลล่า ถนนสุรนารายณ์ เป็นที่ดินของตระกูลทั้งหมด ส่วนคลังสเตชั่นที่เป็นห้างแห่งใหม่การก่อสร้างมีความคืบหน้าไป 40% ลงทุนเบื้องต้นไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท ต้องชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำสัญญาเช่าเรียบร้อยหมดแล้ว เป็นระยะเวลา 30 ปี ทุกวันนี้ก็ยังจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟตามสัญญา โดยสัญญาเช่ายังเหลืออีกประมาณ 26 ปี

 

ศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กรณีการปิดกิจการของห้างคลังพลาซ่าไม่เพียงเกิดจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาลงทุนห้างสรรพสินค้าจำนวนมากในพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมา เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา, ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช และเดอะมอลล์ นครราชสีมา มีการลงทุนปรับปรุงห้างขนานใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีแม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ที่ผุดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจค้าปลีกแข่งขันกันสูงมาก เจ้าของห้างคลังพลาซ่าจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจ จากกิจการห้างสรรพสินค้าที่การแข่งขันสูงมาเป็นการปล่อยพื้นที่ให้เช่าแทน

 

ศักดิ์ชาย กล่าวถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการในโคราชรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ว่าหลายธุรกิจในพื้นที่ตอนนี้ก็มีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่เหมือนกัน เช่น โรงแรมวีวัน ถนนช้างเผือก อ.เมืองนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ลูกค้าลดลง ก็ทุ่มงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท ปรับพื้นที่ห้องประชุมสัมมนาวีวันคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์เป็นศูนย์รวมแพทย์เฉพาะทางครบวงจร สวัสดิราษฎร์ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์คนรักสุขภาพในยุคปัจจุบัน ดังนั้น เชื่อว่าธุรกิจที่อยู่มาได้ถึงวันนี้จะสามารถไปต่อได้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย

 

โดยภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจต่างๆ จะเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง และผู้ประกอบการ ธุรกิจต่างๆ จะฟื้นตัวได้ภายใน 1-2 ปีนี้แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง