รีเซต

ปลัด สธ.สั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จำกัดวงแพร่ระบาด “โควิด-19”

ปลัด สธ.สั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จำกัดวงแพร่ระบาด “โควิด-19”
มติชน
17 เมษายน 2563 ( 21:32 )
88

ปลัด สธ.สั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จำกัดวงแพร่ระบาด “โควิด-19”

เมื่อวันที่ 17 เมษายนนพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปลัด สธ.ได้สั่งการให้เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้พบโดยเร็วที่สุด โดยขยายการค้นหาเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ 1.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อที่ไม่ทราบสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง โดยค้นหาในกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อ ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และกลุ่มที่อยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย และ2.การค้นหาในชุมชน ซึ่งจะค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องในระยะเวลาอย่างน้อย 28 วัน

“ตัวอย่างการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจ.ภูเก็ต ได้ค้นหาในพื้นที่ระบาด 2 กลุ่ม ได้แก่ ซอยบางลา และ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เก็บตัวอย่างส่งตรวจ 2,915 ราย พบติดเชื้อ 26 ราย นำเข้าสู่ระบบการรักษา และจำกัดวงการแพร่กระจายโรค และได้ขยายมาดำเนินการในกรุงเทพมหานคร ที่เขตบางเขน คลองเตย” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ และสำนักปลัด สธ. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้ปรับระบบการทำงาน แยกระบบบริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกจากผู้ป่วยปกติเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยตั้งคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI Clinic) เพื่อเป็นจุดคัดกรองตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ จัดเตรียมหอผู้ป่วยรวม หอผู้ป่วยเดี่ยวที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ และหอผู้ป่วยวิกฤตความดันลบสำหรับคนไข้อาการหนัก และโรงพยาบาลเฉพาะกิจ (hospitel) สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือได้รับการรักษาจนปลอดภัย แต่ยังต้องสังเกตอาการ รวมทั้งเตรียมครุภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล (PPE) เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ปรับแผนการจัดบริการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งจัดอบรมบุคลากร จัดทำแนวทางปฏิบัติ/ มาตรฐานต่างๆ สำหรับหน่วยบริการทั่วประเทศ และข้อแนะนำประชาชน ซึ่งจะมีการปรับปรุงเป็นระยะตามข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ขอให้ประชาชนมั่นใจเข้ากระบวนการรักษาเร็ว โอกาสรักษาหายมีมาก ที่สำคัญประชาชนเป็นฮีโร่ตัวจริง หากมีประวัติเสี่ยงขอให้บอกผู้ให้การรักษา เพื่อจะได้เตรียมพร้อมกระบวนการป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้จัดทำแพลตฟอร์ม “กรมอนามัย CLEAN Together” ผ่านทาง Line application และ Web browser สำหรับ 2 กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รถขนส่งสาธารณะ และรถขนส่งอาหารเดลิเวอรี (Delivery) ที่ได้รับความนิยมใช้บริการช่วงเวลานี้ เพื่อให้สถานประกอบการประเมินว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 หากทำได้ครบตามข้อกำหนด จะสามารถปักหมุดพิกัดไว้ในแพลตฟอร์มว่าเป็นสถานประกอบการที่มีมาตรการในการป้องกัน COVID-19 และกลุ่มประชาชนทั่วไป จะสามารถตรวจสอบพิกัดของโรงแรม ร้านค้า หรือรถขนส่งสาธารณะ และแนะนำติชมสถานประกอบการที่ไปใช้บริการได้ นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินความเสี่ยงตนเองต่อการติดเชื้อ ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข่าวปลอม กรณีจำเป็นต้องเดินทางจะมีคำแนะนำให้ รายละเอียดใน https://stopcovid.anamai.moph.go.th/menu และขอให้ประชาชนตั้งการ์ดให้เป็นนิสัย สร้างมาตรฐานใหม่ให้สังคมไทย สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ รักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม ป้องกันได้ทุกโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง