รีเซต

ธุรกิจอาหารอ่วม โควิดระลอก 3 ฉุดรายได้สูญ 2.1 หมื่นลบ.ต่อเดือน ยอดขายวูบ 70%

ธุรกิจอาหารอ่วม โควิดระลอก 3 ฉุดรายได้สูญ  2.1 หมื่นลบ.ต่อเดือน ยอดขายวูบ 70%
มติชน
29 เมษายน 2564 ( 06:27 )
35
ธุรกิจอาหารอ่วม โควิดระลอก 3 ฉุดรายได้สูญ  2.1 หมื่นลบ.ต่อเดือน ยอดขายวูบ 70%

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถคุมการระบาดได้ และพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น สถานการณ์ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อผู้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็กริมทางเท้าที่มีกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ โดยมูลค่าของร้านอาหาร สร้างเงินสะพัดอยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน แต่พอโควิดระบาดขึ้นมาอีกรอบ ก็ทำให้ยอดขายลดลงแล้วกว่า 70% ซึ่งหากคิดเป็นเม็ดเงินก็พบว่าหายไปประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อวัน หรือใน 1 เดือน จะมีเม็ดเงินหายไปจากระบบกว่า 21,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงรายได้ที่หายไปของผู้ประกอบการอย่างชัดเจน

 

 

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้แม้รัฐบาลจะยังไม่ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อห้ามคนออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนดขึ้น แต่สถานการณ์ตอนนี้ก็เท่ากับเป็นการล็อกดาวน์ในตัวเองอยู่แล้ว เห็นได้จากจำนวนคนออกจากบ้านน้อยลง ทำงานที่บ้านมากขึ้น รถสาธารณะไม่แออัดเหมือนช่วงปกติ ส่วนร้านอาหารตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อยก็แทบไม่มีลูกค้านั่งรับประทานอาหารภายในร้านอยู่แล้ว เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่จะเน้นการขายแบบซื้อกลับบ้าน เนื่องจากไม่ได้มีแค่ลูกค้าที่กังวลความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเท่านั้น เพราะเจ้าของร้านและพนักงานก็กังวลเช่นกัน แต่หากให้ปิดกิจการก่อนชั่วคราว เท่ากับว่ารายได้ที่ยังมีเข้ามาบ้างจะหายไปทั้งหมดทันที ทำให้หากรัฐบาลประกาศใช้ล็อกดาวน์จริง จะส่งผลกระทบรุนแรงมากต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร

 

 

“หลังจากเห็นการประกาศล็อกดาวน์ของกรุงเทพมหานคร ที่สั่งให้ปิดธุรกิจเสี่ยง และลดเวลานั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ถึง 21.00 น. เท่านั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่กับแค่ร้านอาหารที่รายได้ลดลงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ที่ขายวัตถุดิบให้ร้านค้าเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะของสดที่ไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน อาทิ ผักสด เนื้อหมู ไก่ ไข่ ซึ่งเมื่อพ่อค้าแม่ค้าขายของได้น้อยลง ก็รับซื้อของจากเกษตรกรเพื่อนำมาขายต่อลดลงตาม ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลเชื่อมโยงไปในหลายส่วน แม้ภาวะตอนนี้หลายคนจะบอกว่า อยากให้ใช้ล็อกดาวน์ เพราะแม้จะเจ็บแต่จบได้ คือหากพูดก็พูดได้ เพราะภาษาไพเราะ แต่ถามกลับว่า แล้วเมื่อใดจะถึงตอนจบสักที หากรัฐบาลยังไม่สามารถตอบได้ก็ต้องวางแผนในการบริหารจัดการให้ดีขึ้น” นางฐนิวรรณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง