รีเซต

โควิด-19: ประยุทธ์ เตรียมตัวเองเป็น ผอ.ศูนย์แก้โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล

โควิด-19: ประยุทธ์ เตรียมตัวเองเป็น ผอ.ศูนย์แก้โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ข่าวสด
4 พฤษภาคม 2564 ( 13:45 )
35
โควิด-19: ประยุทธ์ เตรียมตัวเองเป็น ผอ.ศูนย์แก้โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมนั่งบัญชาการแก้โควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หวังกดยอดผู้ติดเชื้อลง หลังสะสมทะลุ 2 หมื่นแล้ว พร้อมควบคุมการกระจายวัคซีนให้กับคนเมืองหลวง

 

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวัน โดยพบมีผู้ป่วยรายใหม่ 1,763 ราย และเสียชีวิตอีก 27 ราย

 

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ใช้คำว่า การระบาดมี "แนวโน้มทรงตัว แต่ยังไว้วางใจไม่ได้" และย้ำว่าถ้าจัดการกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ ก็เท่ากับการทำงานเกินครึ่งของประเทศ

 

เหตุที่โฆษก ศบค. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สมุทรปราการ, นนทบุรี, ปทุมธานี) เพราะในรอบ 24 ชม. ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยหน้าใหม่ใน 4 จังหวัดนี้รวมกัน 956 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกใหม่ (1 เม.ย.-3 พ.ค.) มีจำนวน 20,176 ราย ขณะที่อีก 73 จังหวัดที่เหลือ มีผู้ป่วยหน้าใหม่ในรอบวัน 794 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 23,507 ราย

 

นพ. ทวีศิลป์ยังเปิดเผยผลการประชุม ศบค. นัดพิเศษเมื่อ 3 พ.ค. ว่าจะมีการตั้ง "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล" ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อบูรณาการการทำงาน มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็น ผอ. เอง แบ่งพื้นที่ในกรุงเทพฯ ออกเป็น 50 เขต กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตเป็น ผอ. "ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระดับเขต" พร้อมแบ่งการปฏิบัติการออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น อำนวยการ, ตรวจปฏิบัติการเชิงรุก, ตรวจผู้ติดเชื้อและหากลุ่มเสี่ยง รวมถึงบริหารจัดการวัคซีน เนื่องจากกรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่สำคัญและมีประชากรมาก หากรวมประชากรแฝงแล้วน่าจะมีราว 10 ล้านคน

 

ขณะนี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อยู่ระหว่างยกร่างและจัดทำรายละเอียดของคำสั่ง เพื่อเสนอนายกฯ ต่อไป

 

ศบค. ประกาศให้กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด" (สีแดงเข้ม) และเริ่มยกระดับมาตรการสกัดโควิด-19 ตั้งแต่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ากดตัวเลขผู้ป่วยหน้าใหม่ในเมืองหลวงให้เหลือต่ำกว่า 400 คน/วัน

 

ให้ความสำคัญคลัสเตอร์ชุมชนแออัดใน กทม.-โรงงานสมุทรปราการ

 

ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันรายแรกเมื่อ 12 ม.ค. 2563 เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ก่อนเกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศนับจากนั้น ขณะนี้ถือเป็นการระบาดระลอกสาม เริ่มต้นจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ ก่อนที่ไวรัสร้ายจะกระจายตัวไปใน 77 จังหวัด

 

คลัสเตอร์ใหม่ที่ ศบค. ให้ความสนใจในการแถลงข่าววันนี้ (4 พ.ค.) คือคลัสเตอร์ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ และโรงงานในสมุทรปราการ

 

โฆษก ศบค. ระบุว่า ในพื้นที่ 5.66 ตร.ม. ของแขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีชุมชนแออัด 6 แห่ง และเคหะชุมชน 1 แห่ง มีประชาชากร 2.9 หมื่นคน ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วย 88 รายใน 6 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบ่อนไก่ 61 ราย, ชุมชนเคหะบ่อนไก่ 14 ราย, ชุมชนโปโล 10 ราย, ชุมชนร่วมฤดี 2 ราย และชุมชนกุหลาบแดง 1 ราย

 

ส่วนโรงงานใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ มีผู้ติดเชื้อ 160 ราย โดยจุดเริ่มต้นจากพนักงานชาวเมียนมา ซึ่งป่วยตั้งแต่ 17 เม.ย.

 

ข้อมูลล่าสุดตามการรายงานของ ศบค. ทำให้ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเป็นในอันดับที่ 99 ของโลก โดยมีประเทศสหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุดที่ยอดสะสม 33.2 ล้านราย ตามด้วยอินเดีย 20.2 ล้านราย ทว่าอินเดียมียอดผู้ป่วยหน้าใหม่สูงสุดภายในวันเดียวกว่า 3.5 แสนราย และเสียชีวิตกว่า 3.4 พันราย ส่วนยอดผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั้งโลกอยู่ที่ 154.1 ล้านราย

 

ผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจกระจาย 49 จ.

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญ ดังนี้

 

  • มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,763 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,750 ราย และมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 72,788 ราย
  • มีผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. จำนวน 43,925 ราย
  • มีผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ./รพ. สนาม 30,011 ราย โดยมี 1,009 รายที่อาการหนัก และ 311 รายที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือคิดเป็น 33% ของผู้ป่วยหนัก โดยกระจายไปใน 49 จังหวัดทั่วไทย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 27 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 303 ราย
  • พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อหน้าใหม่สูงสุด 5 อันดับแรกของประเทศในวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ (562 ราย), สมุทรปราการ (201 ราย), นนทบุรี (168 ราย), ชลบุรี (91 ราย) และสมุทรสาคร (55 ราย)

 

ผู้เสียชีวิตกลุ่มล่าสุด

 

ขณะที่ผู้เสียชีวิตล่าสุด 27 ราย ศบค. ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้

 

  • เพศชาย 21 ราย หญิง 6 ราย
  • มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ไทรอยด์ ผู้ป่วยติดเตียง โรคอ้วน มะเร็ง ปอดติดเชื้อ โรคไตเรื้อรัง
  • มีปัจจัยเสี่ยงจากการใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ (9 ราย), สัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน (9 ราย), สัมผัสเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน (2 ราย), พนักงานสถานบันเทิง (1 ราย), สถานที่เสี่ยง/ตลาด (4 ราย) และไม่ทราบ (2 ราย)
  • ค่ามัธยฐานของอายุคือ 66 ปี (อายุระหว่าง 25-92 ปี)

 

ฉีดวัคซีนได้ 2.14% ของประชากรไทย

 

ศบค. ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชน 50 ล้านคน อันเป็นการครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อ "สร้างภูมิคุ้มกันหมู่" ให้เกิดขึ้น

ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ค. พบว่า ไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 1,498,617 ราย คิดเป็น 2.14% ของประชากร

มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 1,106,071 ราย คิดเป็น 1.58% ของประชากร

มีผู้ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 392,546 ราย คิดเป็น 0.56% ของประชากร

บีบีซีไทยทดลองคิดค่าเฉลี่ยในการฉีดวัคซีนให้แก่คนไทย นับจากคนไทยคนแรกคือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่อ 28 ก.พ. 2564 พบว่า ในรอบ 65 วันที่ผ่านมา (28 ก.พ.-3 พ.ค.) ไทยฉีดวัคซีนได้เฉลี่ย 23,056 โดส/วัน เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง