รีเซต

มติกก.ควบคุมยาเสพติด ปลดล็อก "กัญชา" พ้นบัญชีประเภท 5 ส่ง ป.ป.ส.เคาะ 25 ม.ค.นี้

มติกก.ควบคุมยาเสพติด ปลดล็อก "กัญชา" พ้นบัญชีประเภท 5 ส่ง ป.ป.ส.เคาะ 25 ม.ค.นี้
TNN ช่อง16
20 มกราคม 2565 ( 17:41 )
290

วันนี้ (20 ม.ค.65) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการเดินหน้ากำหนดทิศทางกฎหมายควบคุมยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 เป็นต้นมา ซึ่งไม่มีการระบุชื่อ "กัญชา" และ "กัญชง" ในประเภทของยาเสพติดให้โทษ

ดังนั้น ขั้นตอนแรก คือ การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามระบุในประมวลฯ จะพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้นจึงออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามต่อไป

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยมี นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. .... คือ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้นที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ คือ 

ก.สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง เฉพาะที่ได้จากการอนุญาตปลูกในประเทศ ในทุกส่วนที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และ ข.สารสกัดจากเมล็ดกัญชา กัญชง ที่ได้จากการปลูกในประเทศเช่นกัน


ล่าสุด ในวันนี้มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการฯ ซึ่งได้มอบหมายให้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมฯ 

โดยมีวาระเพื่อพิจารณาที่สำคัญ คือ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. .... โดยองค์ประชุมประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานจากหลายภาคส่วน 

อาทิ อธิบดีจากทุกกรมของกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด     ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) นายกสภาการแพทย์แผนไทย นายกสภาเภสัชกรรม 

และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง รมว.สาธารณสุข แต่งตั้งจำนวน 10 คน จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ ในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากภาคเอกชน ไม่น้อยกว่า 3 คน โดยมติในที่ประชุมเห็นชอบตรงกันในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไป คือ การยกร่างเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันอังคารที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 13.00-14.00 น. นี้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า วันนี้คณะอนุกรรมการยาเสพติดให้โทษได้มีการพิจารณาร่างที่คณะอนุกรรมการยาเสพติดให้โทษเสนอ ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยวันนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม 28 ราย โดยมีมติเห็นด้วยกับร่างดังกล่าวที่เสนอมา ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่คณะกรรมการป.ป.ส.เพื่อพิจารณาประกาศใช้ 



ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุว่า ประเด็นสำคัญในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายอาญายาเสพติด คือ 1.พืชฝิ่น 2. เห็ดขี่ควาย หรือพืชเห็ดขี่ควาย 

สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชากัญชง ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณ THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 เฉพาะที่ได้รับอนุญาตสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกในประเทศ 

และการยกเว้น สารสกัดจากเมล็กพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกในประเทศ ทั้งนี้ หากสารสกัดกัญชาที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 ถึงจะเป็นยาเสพติด

ส่วนการครอบครองหรือการปลูกกัญชา ทางการค้า จะผิดกฎหมายหรือไม่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุว่า ไม่มีโทษทางกฎหมายอีกต่อไป รวมถึงปลูกกัญชาเสรีด้วย 

ยกเว้น การปลูกกัญชาเพื่ออุตสาหกรรมที่จะนำไปเป็นสารสกัด ซึ่งต้องขออนุญาตก่อน ส่วนการปลูกกัญชาตามบ้านเรือนแล้วนำช่อดอกมาใช้  พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุว่า ขณะที่ยังไม่มีกฎหมายฉบับอื่นที่จะออกมาบังคับควบคุม ถือว่าสามารถปลูกได้และนำมาใช้ได้ 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ดอกกัญชาที่สกัดออกมาแล้ว THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ก็นำไปสร้างรายได้ อย่าบอกว่ากัญชาเสรี ไม่มีการควบคุม เราควบคุม THC ไม่ให้เกินร้อยละ 0.2 ก็ถือว่าควบคุมเต็มที่แล้ว และเป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่ามีประโยชน์ไม่มีโทษ ส่วน CBD ยิ่งมีประโยชน์ใหญ่เลย  

เราควบคุมตัวร้ายคือ THC เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ ในส่วน CBD ที่เป็นตัวหลักยังอยู่ แล้วจะไปปิดกั้นส่วนอื่นทำไม ยิ่งมีมากยิ่งหาได้ง่าย คนก็จะได้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา เอาไปสูบไม่มีประโยชน์อะไร อย่างไรก็ตาม จะออก พ.ร.บ.มาควบคุมอีกชั้นหนึ่ง เหมือนที่กระท่อมทำ ตอนอนุมัติกระท่อมก็ด้วยเหตุผลนำมาใช้ทางการแพทย์ ไม่ต่างกับกัญชา ซึ่งก็จะคุมพืชกัญชาให้เหมือนที่คุมพืชกระท่อม 

ส่วนเรื่องอนุสัญญาระหว่างประเทศ ระบุว่าถ้าใช้ทางการแพทย์ ใช้เพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์สุขภาวะของพี่น้องประชาชน เสริมรายได้ ก็สามารถทำได้ 

ส่วนการป้องกันกัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ มีกฎระเบียบอยู่แล้ว จะไปสกัดสายพันธุ์ต่างประเทศไม่ได้ มีระเบียบที่ อย. ออกไว้ ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักอยู่แล้ว


ด้าน นายปานเทพ พงศ์พัวพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดแนวทางในการใช้กัญชา โดยสารสกัด THC จะต้องไม่เกิน ร้อยละ 0.2 ซึ่งในส่วนของประเทศไทย กัญชาได้หลุดออกจากกฎหมายแล้ว 1 ขั้น จากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 26 ที่กำหนดประเภทของยาเสพติดเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ว่าจะอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาได้ แต่ยังไม่ 100% เนื่องจากยังคงต้องออกมาตรการอื่นๆมาบังคับใช้ในอนาคต เช่น เดียวกับเหล้า และบุหรี่ 

พร้อมยกงานวิจัย ในวารสารระบาดวิทยาด้านยาเสพติด ที่ตีพิมพ์ในปี 2554 โดยระบุว่า บุหรี่นับตั้งแต่เริ่มสูบจะเสพติดร้อยละ 67.5 ส่วนเหล้าหากมีการเริ่มดื่มจะมีโอกาสเสพติด ร้อยละ 27.2 กัญชาเมื่อสูบครั้งแรกจะมีโอกาสเสพติดร้อยละ 8.9 ตรงนี้ทำให้ต้องมีการระบุร่วมกันต่อไปของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด.


ภาพจาก AFP , ทีมข่าว TNN ช่อง 16


ข่าวที่เกี่ยวข้อง