รีเซต

'บิ๊กตู่' สั่งหน่วยด้านความมั่นคง บูรณาการดูแลแนวชายแดนไทย-เมียนมา กต.รอประชุมอาเซียนซัมมิท

'บิ๊กตู่' สั่งหน่วยด้านความมั่นคง บูรณาการดูแลแนวชายแดนไทย-เมียนมา กต.รอประชุมอาเซียนซัมมิท
มติชน
2 เมษายน 2564 ( 14:56 )
73
'บิ๊กตู่' สั่งหน่วยด้านความมั่นคง บูรณาการดูแลแนวชายแดนไทย-เมียนมา กต.รอประชุมอาเซียนซัมมิท

‘บิ๊กตู่’ สั่งหน่วยด้านความมั่นคง บูรณาการดูแลแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน กต.รอประชุมอาเซียนซัมมิท เหตุได้รับข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเมียนมา

 

 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวถึงสถานการณ์ประเทศเมียนมาว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ความสำคัญ ซึ่งได้สั่งการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการในการทำงานและดูแลพื้นที่ตามชายแดน

 

 

โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง เช่น กองทัพบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้บูรณาการทำงานร่วมกันและได้มีการประสานกับกระทรวงต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

 

 

เพื่อประเมินสถานการณ์และดูแลผู้หนีภัยเข้ามาตามชายแดนของประเทศไทยด้วย ในการดูแลกลุ่มดังกล่าวเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมตามหลักสากล และ พล.อ.ประยุทธ์ยังให้ความสำคัญในการดูแลตามหลักสาธารณสุขในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทุกหน่วยงานได้ยึดถือปฏิบัติและรายงานนายกรัฐมนตรีเป็นประจำ

 

 

นายอนุชากล่าวว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เกริ่นว่า ภายในเดือนเมษายนนี้จะมีจัดการประชุมอาเซียนซัมมิท และหวังว่าการจะสามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆ และมีความชัดเจน ในท่าทีของอาเซียนร่วมถึงการได้รับข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ประเทศในอาเซียนจะเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้นและเตรียมความพร้อมในส่วนแต่ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการด้วย ส่วนรายละเอียดในการประชุมตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมการที่จะดำเนินการหารือในเดือนเมษายนนี้

 

 

ด้านนายธานีกล่าวว่า สำหรับท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยเราไม่สบายใจอย่างมากต่อการรายงานการเสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นในหมู่ประชาชนเมียนมา จึงอยากขอให้ทางการเรียนมาใช้ความอดทน อดกลั้น อย่างมากในการดำเนินการใดๆ รวมถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ยุติการใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวมากขึ้น

 

 

นายธานีกล่าวว่า และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมกันหาทางออกโดยสันติวิธีเพื่อให้เมียนมาและประชาชนเมียนมา โดยการพูดคุยผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ใดๆ ก็ได้ ที่สะดวกโดยเร็ว ประเทศไทยกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งรวมถึงเมียนมาเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ยังยืนสำหรับประชาชนเมียนมา และเพื่อให้เมียนมากลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ เมียนมามีสันติภาพ เสถียรภาพ ความเป็นปึกแผ่นและความเจริญรุ่งเรือง จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะสำหรับเมียนมา แต่สำหรับอาเซียนภูมิภาค และนอกภูมิภาคด้วย

 

 

สำหรับการให้ความช่วยเหลือคนไทยในเมียนมา ทางกระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ว่าสถานการณ์ในกรุงย่างกุ้งยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก คือยังมีการประท้วงและการปะทะกันเป็นจุดๆ และยังสามารถจัดหาอาหารได้ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยังจัดหาได้สะดวกและไม่ขาดแคลน

 

 

กระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมช่วยเหลืออพยพคนไทยไว้อยู่แล้ว และได้มีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน โดยสถานเอกอัครราชทูตร่วมกับทีมประเทศไทยกรุงย่างกุ้ง รวมถึงผู้แทนชุมชนไทยและภาคธุรกิจไทย มีการประชุมหารือสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง

 

 

รวมทั้งมีการปรับปรุงซักซ้อมแผนการอพยพคนไทยมาโดยตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ด้วยความรอบคอบและรัดกุม ปัจจุบันมีคนไทยในกรุงย่างกุ้งอยู่ 447 คน อยู่ในรัฐต่างๆ ของเมียนมา 272 คน รวม คนไทยที่อยู่ในเมียนมาที่ได้แจ้งสถานทูตไว้ 719 คน

 

 

ขณะนี้จากการประเมินสถานการณ์ในเมียนมายังไม่ถึงระดับที่จะต้องเตือนให้มีการอพยพกลับประเทศไทย แต่หากสถานการณ์มีการยกระดับขึ้นอีก ฝ่ายไทยก็มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วทุกขั้นตอน

 

 

สำหรับการอำนวยความสะดวกคนไทยในเมียนมาให้เดินทางกลับประเทศไทยทางอากาศในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ประจำเดือนเมษายนนี้ สถานเอกอัครราชทูตได้ประสานเที่ยวบินออกจากเมียนมาให้กับประเทศไทยไว้แล้ว 3 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบินแรกในวันที่ 6 เมษายน จำนวน 2 เที่ยวบิน และในวันที่ 9 เมษายนอีก 1 เที่ยวบิน ซึ่งคนไทยในเมียนมาที่ประสงค์จะเดินทางกลับในเที่ยวบินวันดังกล่าวสามารถแจ้งความประสงค์ได้ โดยติดต่อสถานเอกอัครราชทูตตามช่องทางที่ติดต่อเว็บไซต์หรือที่สถานทูต

 

 

กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลขอยืนยันว่า การให้ความช่วยเหลือดูแลสวัสดิภาพคนไทยในเมียนมา รวมถึงทุกประเทศทั่วโลกเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของกระทรวงการต่างประเทศ และเราไม่เคยนิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศมีความตระหนักถึงหน้าที่และดำเนิน การอย่างเต็มกำลังและเต็มความสามารถ

 

 

สำหรับเรื่องของผู้หนีภัยความไม่สะดวกบริเวณชายแดนไทยเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีประชาชนเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงได้หนีภัยการสู้รบข้ามมาฝั่งไทยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง ซึ่งเป็นผลจากการปะทะในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา กับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู ซึ่งฝ่ายไทยได้ติดตาม พัฒนาการสถานการณ์ภายใน ของเมียนมาและบริเวณแนวชายแดนอย่างใกล้ชิดมาระยะหนึ่งแล้ว และได้มีการประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง

 

 

สำหรับนโยบายต่อผู้หนีภัยเข้ามาในไทยนั้น ประเทศไทยเรามีประสบการณ์ในการรับมือกับผู้อพยพเข้าไทยด้วยเหตุผลต่างๆ จากประเทศเพื่อนบ้านมายาวนาน และได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ จากประเทศเพื่อนบ้านตามหลักมนุษยธรรมและหลักสากลระหว่างประเทศมาโดยตลอด

 

 

สำหรับกรณีที่มีความห่วงกังวลว่าจะมีผู้หนีภัยข้ามมายังฝั่งไทยเป็นจำนวนมากจากสถานการณ์ครั้งนี้นั้น ฝ่ายความมั่นคงและจังหวัดตามแนวชายแดน ได้มีการเตรียมความพร้อมแนวปฏิบัติ และสถานที่รองรับไว้แล้ว รวมทั้งมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติที่มีมาโดยตลอด เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้หนีภัยที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ในเมียนมาจำนวน 7 คน ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดทั้ง 7 คนก็ยังได้รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่ อ.แม่สะเรียง

 

 

สำหรับจำนวนผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาตัวเลขนับถึงเมื่อวันที่ 1 เมษายน คงเหลือ 216 คน และมีผู้หนีภัยกลุ่มใหม่เข้ามาอีกจำนวน 951 คน รวมเป็นผู้หนีภัยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งสิ้น 1,167 คน ส่วนมากเป็นเด็ก สตรี และคนชรา รวมถึงผู้ป่วย และยังมีการทยอยเดินทางกลับอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้หนีภัยความไม่สะดวกจากการสู้รบในเมียนมาครั้งนี้มีการเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ตัวเลขจึงมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง