รีเซต

ไทยพบโควิด-19 พันธุ์ใหม่จากแอฟริกาใต้ 1 ราย สธ.จับตาใกล้ชิด

ไทยพบโควิด-19 พันธุ์ใหม่จากแอฟริกาใต้ 1 ราย สธ.จับตาใกล้ชิด
มติชน
14 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:59 )
55
ไทยพบโควิด-19 พันธุ์ใหม่จากแอฟริกาใต้ 1 ราย สธ.จับตาใกล้ชิด

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ ที่มีข่าวลือว่าแพร่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว รวมถึงข้อกังวลว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ ว่า เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

“โดยหากติดตามมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ขณะนั้นที่คนทั่วไปเข้าใจเรียกว่า สายพันธุ์อู่ฮั่น ต่อมามีการกลายพันธุ์ไปต่างๆ ในกลางปีพบสายพันธุ์ G มากที่สุดทั่วโลก ซึ่งพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์เดิมมากพอสมควร” นพ.โอภาส กล่าวและว่า การกลายพันธุ์ประกอบด้วยปัจจัย 1.การติดเชื้อง่ายขึ้น ที่เราจับตาอยู่คือสายพันธุ์อังกฤษ 2.การทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนน้อยลง โดยขณะนี้ทั่วโลกจับตาสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ระบาดในแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา แต่ยังไม่ค่อยพบในเอเชีย มีข้อมูลเบื้องต้นว่า อาจทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลง เป็นที่มาของข่าวว่าแอฟริกาใต้ระงับการให้วัคซีนบางตัว และ 3.การกลายพันธุ์แล้วโรครุนแรงมากขึ้น ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน เช่น สธ. มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อที่เข้าสู่ประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ G ไม่มีความรุนแรง แต่ติดต่อเชื้อง่าย เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า การจัดให้มีสถานกักกันโรคผู้เดินทางจากต่างประเทศ 14 วัน ทำให้เราสามารถตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ครั้งแรกในประเทศไทย เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี อาชีพรับซื้อพลอยในประเทศแทนซาเนีย 2 เดือน ซึ่งให้ประวัติว่า ที่ประเทศดังกล่าวไม่มีผู้ติดเชื้อ จึงไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 29 มกราคม เดินทางต่อเครื่องจากเอธิโอเปียมาสนามบินสุวรรณภูมิ เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เก็บตัวอย่างเชื้อครั้งที่ 1 ให้ผลบวก จึงเข้าสู่การรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ เห็นว่าเดินทางมาจากแอฟริกา จึงมีการถอดรหัสพันธุกรรมที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

“พบว่าเป็นสายพันธุ์ South African Variant หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ฉะนั้น ทีมสอบสวนโรคจึงไปตรวจสอบสถานกักกันโรค และ รพ. พบว่าทุกคนสวมเครื่องมือป้องกัน หรือชุด PPE ค่อนข้างดี รวมถึงตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ให้ผลลบทุกราย จึงค่อนข้างสบายใจได้ว่าไม่น่าจะพบมีการติดเชื้อ” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง