รีเซต

แพทย์เชี่ยวชาญจับตาโควิดพันธุ์ไทย ห่วง 1 สัปดาห์เชื้ออินเดียเข้าปท.

แพทย์เชี่ยวชาญจับตาโควิดพันธุ์ไทย ห่วง 1 สัปดาห์เชื้ออินเดียเข้าปท.
มติชน
11 พฤษภาคม 2564 ( 12:04 )
58
แพทย์เชี่ยวชาญจับตาโควิดพันธุ์ไทย ห่วง 1 สัปดาห์เชื้ออินเดียเข้าปท.

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่โรงแรมสุโกศล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีจำนวนมากขึ้น ว่า เราสังเกตดูตัวอย่างจากฝรั่งเศส บราซิล อินเดีย และสหรัฐอเมริกา การติดเชื้อของไวรัสจาก 1 คนไปอีก 1 คน ก็จะมีโอกาสกลายพันธุ์อยู่แล้ว ยิ่งติดเชื้อมาก โอกาสก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ประเทศที่มีการติดเชื้อมากๆ ตัวเลขเป็นหลักหมื่นรายต่อวัน มักจะเจอสายพันธ์ุแบบนั้น แต่สำหรับการกลายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ในประเทศไทย ถ้าหากจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ราวๆ นี้ ก็จะยังไม่เกิดขึ้น

 

 

“เราได้คุยกันอยู่ และไม่อยากให้เกิดขึ้น เราไม่อยากรู้จักสายพันธุ์ไทยแลนด์แวเลียน (variant) หรือ สายพันธุ์ไทย การกลายพันธุ์ไม่ได้ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง เพราะการกลายพันธุ์แต่ละครั้ง เพื่อให้ไวรัสมีชีวิตอยู่ต่อได้ ไม่มีการกลายพันธุ์ไหนที่ทำให้มันแย่ลง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยิ่งมีการติดเชื้อมากเท่าไร โอกาสกลายพันธุ์ก็จะมากขึ้น โอกาสเสียชีวิตก็มากขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ปัจจัยก็เกิดจากการถูกจู่โจมด้วยไวรัสกลายพันธุ์ และประชาชนการ์ดตก ก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ตามหลักธรรมชาติ ซึ่งโควิด-19 เองก็เช่นกัน คือ 1.แพร่เชื้อได้เร็ว 2.มีความแข็งแรงมากขึ้น และ 3.ป้องกันตัวเองได้ดีมากขึ้น ทั้งนี้ ไวรัสจะแตกต่างจากสัตว์ทั่วไป คือ เมื่อกลายพันธุ์แล้วจะดุขึ้น แต่จบเร็ว เพราะ อยู่ในอากาศไม่ได้ แบ่งตัวเองไม่ได้จึงต้องอาศัยการเข้าถึงตัวคน และเมื่อเข้าสู่ร่างกายคนแล้วก็ทำให้เสียชีวิตได้มากขึ้น ไวรัสเองก็จะตายเช่นกัน

 

 

“ดังนั้น การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่คือ ทำให้แพร่เร็ว จากเดิมที่สัดส่วนการพบผู้ติดเชื้อ 100 คน จะมีอาการน้อย ร้อยละ 80 อาการหนัก ร้อยละ 15 และอาการหนักมากอีก ร้อยละ 5 ซึ่งตอนนี้ตัวเลขขยับเป็นสัดส่วน 70-30 ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็จะมีมากขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า สายพันธุ์อังกฤษที่พบในประเทศไทยต่างจากประเทศอื่นหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เดิมทีสายพันธุ์อังกฤษ มีข้อมูลว่า แพร่เชื้อเร็วแต่ไม่รุนแรง แต่ล่าสุดเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานทางวิชาการหนึ่งออกมา วิเคราะห์ประเทศที่มีสายพันธุ์อังกฤษและมีอัตราการเสียชีวิตมาก ว่า การกลายพันธุ์อาจเป็นหนึ่งปัจจัย แต่การพบจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น เช่นเดิมอัตราป่วยหนัก 200 ราย ใน 1,000 ราย แต่ตอนนี้ก็เพิ่มเป็น 300 ราย ใน 1,000 ราย แสดงว่ามีปัจจัยอื่นแบบไม่ใช่ตรงไปตรงมา

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าววต่อไปว่า สำหรับกรณีที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนพ่อค้าพลอยที่ จ.จันทบุรี นั้น ขณะนี้มีการตรวจสอบและยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ไม่ใช่สายพันธุ์อินเดียอย่างที่เรากังวลกัน คลัสเตอร์นี้ไม่น่าห่วงเท่าไร เนื่องจากเรามีข้อมูลมีชื่อมีแหล่งที่อยู่อย่างชัดเจนแต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องมีมาตรการในการจัดการที่รวดเร็ว

 

 

“และสิ่งที่เรากังวลและมีการพูดคุยกันอยู่ตลอดคือ การเข้ามาของสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ตามแนวชายแดน เพราะเห็นว่า ช่วงเวลาเพียง 4 เดือน เรามีรายงานคนลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายมากถึง 15,000 คนตรงนี้จำเป็นจะต้องเป็นความเข้มงวดอย่างยิ่ง ตามแนวชายแดนไทยที่ติดกับประเทศเมียนมา และประเทศมาเลเซีย รวมถึงชายแดนกัมพูชาด้วย ส่วนฝั่งประเทศ สสป.ลาว ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไรนัก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า เส้นทางที่เชื้อไวรัสจากอินเดียจะสามารถเข้ามาในไทยได้นั้น จะผ่านปากีสถาน ผ่านเมียนมา และใช้เวลาเพียงไม่นาน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถเดินทางมาถึงประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตามแนวชายแดนจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง