รีเซต

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วัคซีน 2 แนวทาง

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วัคซีน 2 แนวทาง
มติชน
28 กรกฎาคม 2563 ( 01:30 )
60
คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วัคซีน 2 แนวทาง

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วัคซีน 2 แนวทาง

 

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านเลยหลัก 16 ล้านคนทั่วโลกไปอย่างง่ายดายและรวดเร็วยิ่ง

ประเทศที่ระบาดหนักอยู่ก่อนแล้ว สร้างสถิติป่วย-ตายรายวันใหม่ๆ ขึ้นถี่ยิบ ประเทศที่เคยซาสงบลงมาแล้วระยะหนึ่ง กลับมาเกิดการระบาดใหม่ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สเปน, ญี่ปุ่น เรื่อยไปจนถึงเวียดนาม และออสเตรเลีย

สถานการณ์เช่นนี้เร่งเร้าให้การแข่งขันกันค้นหาวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเข้มข้นมากเป็นพิเศษ

ประเทศไหน บริษัทใด จะประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด คือเครื่องหมายคำถามแรกสุด

ถัดมาเป็นคำถามสำคัญและใหญ่โตพอๆ กัน นั่นคือ การจำหน่ายจ่ายแจกวัคซีนที่ประสบความสำเร็จเร็วที่สุดที่ว่านั้นจะเป็นไปในแบบใด ทุกประเทศมีสิทธิเข้าถึงวัคซีนที่ว่านี้ได้เหมือนๆ กัน เท่าเทียมกันหรือไม่

ตามแนวโน้มที่เป็นอยู่ในเวลานี้ คำตอบน่าจะเป็นว่า สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็คือ การกักตุนวัคซีน!

ชาติที่มั่งคั่ง มีพลานุภาพทางเศรษฐกิจสูงทั้งหลาย อย่าง สหรัฐอเมริกา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี เลือกวิธีการที่จะใช้อำนาจเงินของตนเอง ผูกมัดบริษัทยาและเวชภัณฑ์ทั้งหลาย ให้พัฒนาและผลิตวัคซีนจำนวนมหาศาลเพื่อประชากรของตนเอง

เท่ากับเป็นการปิดการเข้าถึงของบรรดาชาติยากจน และชาติที่มีรายได้ปานกลางไปโดยปริยาย

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนรวมทั้ง โทมัส โบลิคีย์ ผู้อำนวยการโครงการสาธารณสุขโลก ในสังกัดสภาวิเทศสัมพันธ์ องค์กรทางวิชาการอิสระ ในวอชิงตัน คาดกันว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ “ลัทธิวัคซีนชาตินิยม” จะได้รับชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้

ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีนัก ทั้งกับความท้าทายเฉพาะหน้าและความเป็นไปในระยะยาว

ในระยะสั้น การกักตุนวัคซีนไว้สำหรับประเทศหนึ่งประเทศใดเพียงประเทศเดียว ทำให้การระบาดยังคงเกิดขึ้นแพร่หลายในส่วนอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ของโลกต่อไป

ในระยะยาว ลัทธิวัคซีนชาตินิยม จะทำลายโอกาสที่ก่อรูปให้เกิดความร่วมมือซึ่งกันและกันในแบบพหุภาคีระดับโลกในด้านอื่นใดลงจนเหลือน้อยที่สุด

ขนาดในเรื่องที่เป็นความเป็นความตายอย่างเช่นกรณีโควิด ยังร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ได้ ยังจะร่วมมือกันได้ในเรื่องไหนอีกเล่า?

ความกังวลในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนแบบถ้วนหน้าสำหรับประชากรโลก มีต้นตอมาจากข้อเท็จจริงของการพัฒนาวัคซีน ไม่ว่าจะสำหรับโรคใดๆ ที่ผ่านมา สถิติที่พันธมิตรระดับโลกเพื่อวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (กาวี) ที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน บ่งบอกเอาไว้ว่า โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีน้อยอย่างยิ่ง

สูตรวัคซีนตัวใดก็ตามที่ริเริ่มคิดค้นพัฒนาทั้งหมดนั้น มีโอกาสเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถรุดหน้าและประสบความสำเร็จในขั้นตอนแรกเริ่มนี้เท่านั้น

และในบรรดาสูตรวัคซีนทั้งหมดที่สามารถเข้าสู่การทดลองในตัวคน ซึ่งเป็นการทดลอง 3 ระยะสุดท้ายของการพัฒนาวัคซีน มีโอกาสประสบผลสำเร็จได้เพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงจากอดีตที่ว่านี้เอง ที่ทำให้ประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย อย่างสหรัฐอเมริกา อาศัยความมั่งคั่งของตนเองวางเงินเดิมพันด้วยสัญญามูลค่ามหาศาลกับผู้พัฒนาและผู้ผลิตวัคซีน ทำความตกลงเป็นเงื่อนไขตายตัวว่าจะต้องผลิตให้กับประเทศตนเป็นประเทศแรก ในจำนวนโดสตามที่กำหนดไว้

ผู้พัฒนาและผู้ผลิตวัคซีนทั้งหลายซึ่งต้องลงทุนเป็นเม็ดเงินมหาศาล จำเป็นต้องรับเอาสัญญาดังกล่าวไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียของตนให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย

ผู้ที่เสียหายจากกระบวนการดังกล่าวนี้ก็คือ ประเทศยากจนและประเทศขนาดเล็กที่มีรายได้ปานกลางอย่างเช่นไทย หรืออื่นๆ เพราะไม่มีเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อไปทำสัญญาผูกมัดบริษัทผู้พัฒนาและผู้ผลิตได้

เสี่ยงต่อการที่ประเทศเหล่านี้อาจจำเป็นต้องเดิมพันด้วยเงินจำนวนน้อยกว่า กับวัคซีนที่อาจด้อยประสิทธิภาพกว่า หรือไม่มีประสิทธิภาพเลย และมีความปลอดภัยน้อยกว่า

องค์การอนามัยโลกพยายามแก้ปัญหานี้โดยอาศัยหลักการความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคี ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิ บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์, สหภาพยุโรป และชาติอื่นๆ ริเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อพัฒนา การตรวจวินิจฉัยเชื้อ, ยารักษา และวัคซีน สำหรับโควิด-19 ขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เป้าหมายเพื่อจะระดมทุนให้ได้ 31,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อการพัฒนาทั้ง 3 ส่วน โดยแยกส่วนที่เป็นต้นทุนเพื่อพัฒนาวัคซีนจนประสบผลสำเร็จไว้ 18,100 ล้านดอลลาร์

โครงการนี้กำหนดจะผลิตชุดตรวจวินิจฉัย 500 ล้านชุด, ยาสำหรับการรักษา 245 ล้านคอร์ส และวัคซีนราว 2,000 ล้านโดส ให้ได้ภายในสิ้นปี 2021

ปัญหาก็คือ โครงการนี้ระดมเงินได้เพียง 3,400 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ไม่มีทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน ร่วมอยู่ในชาติที่บริจาคสมทบอยู่ด้วย

โครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนภายใต้การนำขององค์การอนามัยโลกนี้ มีชื่อเรียกขานว่า “โควิด-19 วัคซีน แอคเซส แฟซิลิตี” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โคแวกซ์” ตั้งใจจะเป็นศูนย์รวมของทรัพยากรจากนานาประเทศ, องค์กรไม่แสวงกำไร, และองค์การระหว่างประเทศทั้งหลายเข้ามารวมกัน

ภายใต้โคแวกซ์ มีทั้งองค์การอนามัยโลก, กาวี (ซึ่งนอกจากมูลนิธิเกตส์แล้ว ยังมีสหรัฐ, อังกฤษ และนอร์เวย์ สนับสนุนทางการเงินอยู่), และมี  “เซปิ” หรือ “พันธมิตรเพื่อนวัตกรรมสำหรับเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดครั้งใหญ่” ที่มูลนิธิเกตส์, เวลคัมทรัสต์, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และนอร์เวย์ ให้การสนับสนุนทางการเงิน

เพื่อผลิตวัคซีนให้ได้ในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการจำหน่ายจ่ายแจกให้กับ “คนในกลุ่มเสี่ยงสูงสุด” ในกลุ่มประชากรของประเทศทั้งหมดที่มีส่วนร่วม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่องต่อไป จำกัดการระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้อยู่ในระดับที่ “ควบคุมได้” ในที่สุด

สิงคโปร์และสวิตเซอร์แลนด์ หนุนโครงการโคแวกซ์นี้เต็มที่ อังกฤษ, ไอซ์แลนด์, ญี่ปุ่น, นอร์เวย์, เกาหลีใต้, สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมด้วยเต็มตัว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งออสเตรเลียและแคนาดา ก็คาดว่าจะลงนามเพื่อร่วมมือกับโครงการนี้

สหรัฐอเมริกาไม่ได้คัดค้าน ซึ่งทำให้บางคนคาดหมายว่า รัฐบาลอเมริกันอาจให้เงินทุนสนับสนุนโคแวกซ์ในอนาคตได้ กระนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกามาให้กับโคแวกซ์แต่อย่างใด

ยิ่งมีประเทศเข้าร่วมในโครงการริเริ่มนี้มากขึ้นเท่าใด จำนวนสูตรวัคซีน หรือวัคซีนแคนดิเดต ที่โคแวกซ์สนับสนุนได้ก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จให้สูงขึ้นตามไปด้วย

จนถึงขณะนี้ เซปิ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโคแวกซ์ บรรลุความตกลงกับบริษัทเวชภัณฑ์จำนวนหนึ่งเพื่อพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 ขึ้นมากกว่าสิบสูตร และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการเพื่อทำความตกลงกับรัฐบาล, ภาคเอกชนและองค์กรเพื่อสุขภาพของเอกชนอีกจำนวนหนึ่งเพื่อขยายขอบเขตดำเนินการออกไปเพิ่มเติม

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม เซปิกับกาวี ทำความตกลงมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์กับแอสตราเซเนกา เพื่อผลิตและจำหน่ายจ่ายแจกวัคซีนโควิด-19 จำนวน 300 ล้านโดส ให้กับโครงการในตอนต้นปี 2021 นี้

เพียงแต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการเท่านั้น

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่เพียงจัดทำ “โอเปอเรชัน วาร์ป สปีด” ขึ้นเพื่อให้ได้วัคซีน 300 ล้านโดสภายในเดือนมกราคม 2021 ยังกว้านซื้อ “เรมเดซิเวียร์” จากตลาด หลังจากเป็นที่แน่ชัดว่ายาต่อต้านไวรัสชนิดนี้สามารถรักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ได้

ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นทั้งสองประการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกายังคงต้องเป็นที่หนึ่งอยู่ต่อไป แม้ในเรื่องของวัคซีนโควิด

ทั้งหมดนั้นสะท้อนให้เห็นแนวทางการใช้วัคซีนที่แตกต่างออกไปของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

300 ล้านโดส ที่ว่านั้นเพียงพอต่อการครอบคลุมสำหรับประชากรทั้งประเทศของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มเสี่ยงสูงหรือต่ำเพียงใดก็ตาม

โบลลิคีย์กับบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายชี้ว่า วิธีการดังกล่าวอาจทำให้โรคโควิด-19 อยู่ในความควบคุมได้ในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ แต่อย่างใด ทำให้วิธีการนี้ไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดในการควบคุมการระบาดในระดับโลก

จีนใช้วิธีที่แตกต่างออกไปอยู่บ้าง แต่ผลลงเอยดูจะไม่แตกต่างจากกันเท่าใดนัก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า วัคซีนใดๆ ที่จีนอาจพัฒนาขึ้นมาได้นั้นจะเป็นวัคซีน “ที่ดีของสาธารณชนทั่วโลก”

“สิ่งนี้จะเป็นการอุทิศจากจีนเพื่อให้แน่ใจได้ว่า บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่รับได้” คือคำประกาศที่ทำให้หลายคนตีความว่า จีนกำลังเตรียมการที่จะใช้วัคซีนโควิด เพื่อขยายอิทธิพลของตนเหนือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศที่ร่วมอยู่ในโครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ทั้งหลายนั่นเอง

แม้กระทั่งยุโรปเอง ซึ่งอ้างอิงถึงลัทธิพหุภาคีอยู่ตลอดเวลา ยังอดเอนเอียงเข้าข้างตนเองไม่ได้

ประเทศอย่างเยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ประกาศรวมตัวกันขึ้นเป็น “พันธมิตรวัคซีนแบบมีส่วนร่วม” เพื่อทำความตกลงกับบริษัทเวชภัณฑ์ผูกมัดให้พัฒนาและผลิตวัคซีนให้

ถึงขนาดเบลเยียมต้องออกมาโวยว่า การกระทำของทั้ง 4 ประเทศ เป็นการบ่อนทำลายโดยตรงต่อโครงการจัดหาวัคซีนของสหภาพยุโรป

แม้แต่อังกฤษเอง รัฐบาลก็ออกมาแถลงเป็นเชิงประท้วงกลายๆ ว่าห้องแล็บของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นผู้พัฒนาวัคซีนขึ้นมาจนถึงระดับที่คาดหวังได้ (ร่วมกับแอสตราเซเนกา) วัคซีนที่ว่าก็ควรจะถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องชาวอังกฤษ

ในรายละเอียดทางเทคนิคในแผนของโคแวกซ์ เคยเตือนเอาไว้ว่า หากปราศจากความร่วมมือกันดำเนินความพยายามในระดับโลก เพื่อเป้าหมายจัดหาวัคซีนสำหรับป้องกันประชากรในกลุ่มที่จำเป็นต้องป้องกันมากที่สุดก่อนในทุกประเทศทั่วโลก การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดก็เป็นไปไม่ได้ โควิด-19 ยังจะคงแพร่ระบาดต่อไป

และการแข่งขันกันเพื่อกักตุนวัคซีน จะยิ่งก่อให้เกิดกระแสคลั่งการประมูลวัคซีนตั้งแต่ยังไม่รู้ผลลัพธ์

ซึ่งจะยิ่งผลักดันให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นและสูงขึ้น สุดท้ายก็จะทำให้การระบาดของโรคเป็นระลอกๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไป อย่างน้อยก็จนถึงสิ้นปี 2021!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง