รีเซต

คนฮ่องกง ปรับพฤติกรรมซื้อเนื้อหมูหลังโควิดระบาด เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตแทนตลาดสด

คนฮ่องกง ปรับพฤติกรรมซื้อเนื้อหมูหลังโควิดระบาด เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตแทนตลาดสด
มติชน
20 เมษายน 2563 ( 10:17 )
171

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ฮ่องกง รายงานงานถสถานการณ์สุกรฮ่องกงว่า ปัจจัยหลัก 3 ข้อที่มีผลต่อการอุปทานเนื้อหมูในฮ่องกงได้แก่ 1. โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 2. สถานการณ์ความไม่สงบ และ 3. การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมค้าสุกรฮ่องกง (The Pork Traders General Association) พบว่าระยะหลังนี้ ฮ่องกงนำเข้าหมูสดลดลงจากวันละ 1,700 ตัว เหลือเพียงวันละ 1,300 ตัว สาเหตุเนื่องมาจากกระบวนการนำเข้าผ่านพิธีทางศุลกากรที่เข้มงวดขึ้นอันเนื่องมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-1

 

นอกจากนี้ สำนักงานอาหาร และสุขภาพฮ่องกง (The HK Food & Health Bureau) ได้ชี้ว่าความต้องการหมูมีชีวิตในจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หมูมีราคาสูง และส่งผลกระทบต่อการนำเข้าหมูในฮ่องกง ซึ่งประเทศจีนที่เป็นผู้ส่งออกหมูมายังฮ่องกงรายใหญ่ที่สุดได้ลดการส่งออกหมูลงจากจำนวนร้อยละ 23.7 ในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 10.3 ในปี 2563 (ข้อมูลจากเดือน ม.ค. – ก.พ. 63) และในทางตรงกันข้ามประเทศไทยได้ส่งออกหมูเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 0.5 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 10.2 ในปี 2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3,286.9 เมื่อเทียบกันปีต่อปี

 

 

ขณะเดียวกันราคาค้าปลีกเนื้อหมูสดก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากปริมาณเนื้อหมูที่จำกัดจากจีน ส่งผลให้ผู้บริโภคในฮ่องกงเปลี่ยนมาซื้อหมูแช่แข็งจากซุปเปอร์มาเก็ตแทนการซื้อหมูจากตลาดสดโดยคำนึงถึงความสะอาดถูกหลักอนามัย และการบรรจุภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือกว่า จากแบรนด์ผู้นำไทย อาทิ ซีพี และ เบทาโกร เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์หมูจากไทยกลายเป็นสินค้ายอดนิยมของชาวฮ่องกง

 

อย่างไรก็ดี สคต. ฮ่องกง จะยังคงสำรวจสถานการณ์ตลาดในฮ่องกง เพื่อจะหาแนวทางที่เหมาะสมในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าไทยต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง