หมอแจง 2 ปัจจัยเสี่ยง "โควิด-19" ระลอกสอง ชี้ยอดติดเชื้อเลข 2 หลัก ควรจัดการเฉพาะพื้นที่
หมอแจง 2 ปัจจัยเสี่ยง “โควิด-19” ระลอกสอง ชี้ยอดติดเชื้อเลข 2 หลัก ควรจัดการเฉพาะพื้นที่
โควิด-19 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การภายหลังมาตรการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรม ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (โควิด-19) (ศบค.) มีคำสั่งให้เปิด 6 กิจการ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมเป็นต้นมา ว่า ในมาตรการผ่อนปรน ร้านอาหารที่จัดตั้งแผงฉากกั้นระหว่างบุคคลนั้น คำแนะนำคือ การตั้งแผงฉากกั้น นอกจากการกั้นระหว่างการนั่งตรงกันข้ามแล้ว ควรจะกั้นระหว่างโต๊ะอาหาร ซ้ายและขวาซึ่งจะมีประโยชน์ที่สูงมากขึ้น โดยมีความสูงมากกว่าศีรษะเมื่อเวลาที่นั่งหรือยืน มีระยะห่างจากผู้นั่ง ด้านหน้าอย่างน้อย 1.5 เมตร ด้านหลัง 1.5 เมตร
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการระบาดระลอกที่สอง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงมี 2 สิ่ง คือ 1.จำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนที่ค่อนข้างต่ำ 2.ผู้คนออกไปสัมผัสกันมากน้อยเพียงใดในแต่ละวัน หากพบเจอคนมาก ความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคก็จะสูง สถานที่แต่ละแห่งมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น พื้นที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วย ความเสี่ยงจะสูงกว่าพื้นที่ที่ไม่เคยพบผู้ป่วยเลย ดังนั้นมาตรการทำงานที่บ้าน ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นการลดความแออัดในพื้นที่สาธารณะ รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถตู้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือช่วยกันลดความเสี่ยง การสวมใส่หน้ากากผ้ายังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ขณะนี้เริ่มเห็นบางคนการ์ดตก ออกจากบ้านโดยไม่สวมหน้ากากป้องกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการกักกันผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ (State quarantine) (Local quarantine) รวมถึงโอกาสที่ประชาชนคนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคนี้ในต่างประเทศ โอกาสที่ชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ถูกกันกันก็จะต่ำ เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมค่อนข้างมาก และไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงในการกลับไปในสถานะเดิมอีก และหากคนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประเทศนั้นๆ ว่า มีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมีผู้ป่วยน้อยจริงหรือไม่ จะต้องรวมถึงการทำงานที่จะต้องพิสูจน์ตัวเลขที่ประเทศไทยรายงานในแต่ละวันว่าใกล้เคียงหรือตรงกับความจริงมากน้อยเพียงใด
“จะต้องพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคว่ามีการลดลงหรือไม่ หรือจำนวนการตรวจค้นหาผู้ป่วยในแต่ละวันลดลงหรือไม่ แม้ว่าจะพบผู้ป่วยน้อยลง แต่เราไม่ได้มีความคิดว่าจะลดจำนวนการตรวจลง ตรงกันข้ามคือเราพยายามตรวจต่อไปให้ได้มากขึ้น มีการระบุกลุ่มประชากรที่จะต้องตรวจรายวันให้ชัดเจน และผู้ป่วยที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาล (รพ.) จะต้องมีการตรวจเพิ่ม เช่น ก่อนทำหัตถการ หญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอด ผู้สูงอายุที่มีอาการไข้หวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ค้นพบผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุด พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างประเทศด้วย หากต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในประเทศเรา เขาก็คงจะให้เราเข้าประเทศไทยโดยที่ไม่ต้องกักกัน ส่วนนี้จะต้องขึ้นอยู่ในแต่ละประเทศจะพิจารณา” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
เมื่อถามถึงการใช้มาตรการผ่อนปรนกิจการในระยะที่ 1 ว่า หากภายในสัปดาห์ต่อไปพบว่ามีผู้ป่วยรายเพิ่มรายวันเพิ่มสูงขึ้นในหลัก 30-40 ราย จะมีการเลื่อนเปิดในระยะที่ 2 หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าว เป็นความคิดเห็นเชิงวิชาการส่วนตัว หากมีการระบาดเช่นนั้นเกิดขึ้นจะต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ว่าเกิดขึ้นที่ใด และลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ส่วนพื้นที่อื่นก็สามารถป้องกันและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติต่อไป เนื่องจากการระบาดที่ผ่านมามีการเกิดขึ้นในไม่กี่จังหวัด แต่มาตรการที่เข้มข้นคือ การปิดทั่วประเทศ ดังนั้น หากเข้าใจสถานการณ์ระบาด และใช้มาตรการที่สมเหตุสมผล เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ