ที่มาของ ราชกิจจานุเบกษา
ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า "ราชกิจจานุเบกษา" จากรัฐบาลก่อนมีผลบังคับต่างๆ เช่น ข่าวล่าสุดการปลดล็อคพืชกระท่อมให้พ้นยาเสพติดให้โทษประเภท5 วันนี้ trueID จะพาทุกท่านไปรู้จักกับที่มาของ ราชกิจจานุเบกษา ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
ราชกิจจานุเบกษา คืออะไร?
ที่มาของ ราชกิจจานุเบกษา
ราชกิจจานุเบกษา (Royal Thai Government Gazette, เรียกสั้น ๆ ว่า Government Gazette) เป็นหนังสือรวบรวมคำประกาศของทางราชการ โดยเริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย นพศก จุลศักราช 1219 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 เพื่อชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ (บางกอกรีคอเดอ) เป็นเอกสารหลักในการแจ้งประกาศ กฎหมาย และคำสั่งทางราชการให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการจวบจนปัจจุบันนี้ นับเป็นสิ่งพิมพ์ของไทยที่มีอายุยาวนานที่สุด โดยมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์และเผยแพร่
ประเภทของราชกิจจานุเบกษา
- ประเภท ก ฉบับกฤษฎีกา เป็นการประกาศเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระบรมราชโองการที่เป็นกฎ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่ง ของหน่วยงานหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอนุบัญญัติ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด และเรื่องสำคัญที่ประชาชนทั่วไปควรได้รับทราบ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษาของศาลปกครอง
- ประเภท ข ฉบับทะเบียนฐานันดร หมายกำหนดการ และข่าวในพระราชสำนัก เป็นการประกาศเกี่ยวกับสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ รายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญราชการ หรือยศ รายชื่อผู้ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือถูกถอดยศ และรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราต่างประเทศ หมายกำหนดการพระราชพิธี ต่าง ๆ และข่าวในพระราชสำนัก
- ประเภท ค ฉบับทะเบียนการค้า เป็นการประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด การเปลี่ยนแปลง และการเพิกถอนทางทะเบียน
- ประเภท ง ฉบับประกาศและงานทั่วไป เป็นการประกาศเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุในประเภท ก ประเภท ข และประเภท ค
เราสามารถตรวจสอบ "ราชกิจจานุเบกษา" ได้ที่ไหน
เนื่องจากในปัจจุบันส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ส่งเรื่องไปประกาศหรือลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเป็นจำนวนมาก และหลากหลายประเภทส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกระทบ ต่อสิทธิและเสรีภาพตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง การนำลงประกาศหรือลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ของเรื่องนั้น ๆ หากเราต้องการทราบเรื่องที่ต้องการค้นหาสามารถเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของ ราชกิจจานุเบกษา
ที่มา : wikipedia , ราชกิจจานุเบกษา