รีเซต

เด็กทั่วไทยกว่า 3.6 ล้านคน ขอไฟเซอร์ สธ.ยันกระจายทั่วถึง แจง ดช.12 ปี ดับหลังฉีดไม่เกี่ยววัคซีน

เด็กทั่วไทยกว่า 3.6 ล้านคน ขอไฟเซอร์ สธ.ยันกระจายทั่วถึง แจง ดช.12 ปี ดับหลังฉีดไม่เกี่ยววัคซีน
มติชน
1 ตุลาคม 2564 ( 16:09 )
41

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงชี้แจงและการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก ซึ่งจะเริ่มนำร่องบางพื้นที่ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ว่า การฉีดวัคซีนจะมีระบบติดตามหลังการฉีด โดย สธ.ร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาล ทำหนังสือแจงทุกหน่วยบริการ ย้ำว่าหลังการฉีดวัคซีน แล้วพบผู้มีอาการผิดปกติ ต้องดูแลรักษาเฝ้าระวัง ทั้งนี้ วัคซีนฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี เป็นชนิด mRNA อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แม้อยู่ในอัตราต่ำ แต่ต้องเตรียมการไว้อย่างดี มีการนั่งสังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที โดยอาการสังเกตที่ต้องติดตาม 30 วันหลังฉีด คือ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อยง่าย ใจสั่น หมดสติ เป็นลม อ่อนเพลีย และภายใน 7 วันหลังฉีด ยังไม่แนะนำให้ออกกำลังหนัก เพราะอาจรู้สึกเหนื่อย แต่แยกไม่ออกว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่

 

 

“เมื่อเด็กฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ขอให้ผู้ปกครองและนักเรียนเฝ้าสังเกตอาการ ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบไม่สูง เป็นสิ่งที่ดูแลได้ หากพบให้ไปแจ้งโรงพยาบาล (รพ.) จะมีการตรวจสอบและให้การดูแลอย่างถูกต้อง เพราะแม้จะมีอาการเหล่านี้ แต่อาจจะไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจจะเป็นจากสาเหตุอย่างอื่นได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเด็กชายเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โดยสรุปแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นจากวัคซีน เหตุนี้เกิดที่กรุงเทพมหานคร เด็กชาย 12 ปี ป่วยโรคเบาหวานแต่กำเนิด ฉีดอินซูลินเข้าร่างกาย 3 เวลา เป็นผู้ป่วยต่อเนื่องของ รพ.รามาธิบดี รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม โดยเริ่มมีอาการผิกปกติ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม มีคลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย แต่ไม่มีอาการมือสั่น ใจสั่น ไม่มีไข้ ไม่เจ็บหน้าอก ไม่เหนื่อยง่าย ซึ่งระยะห่างจากการฉีดวัคซีนมา 3 สัปดาห์ พบว่าในวันที่ 13 สิงหาคม เสียชีวิต ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม จากการตรวจชิ้นเนื้อ สาเหตุการเสียชีวิต ไม่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่พบว่ามีระดับสารน้ำในลูกตาสูงมาก จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน

 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงความพร้อมของการฉีดนักเรียนที่จะเริ่มวันที่ 4 ตุลาคมนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า มีการรวบรวมรายชื่อนักเรียน ตามที่ผู้ปกครองแจ้งความจำนงเข้ามาที่โรงเรียน และรวบรวมส่งให้หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งตัวเลขมา เพราะฉะนั้น เดิมเตรียมเป้าหมายไว้ 4.6 ล้านราย เมื่อรวบรวมมาจากทั่วประเทศ นักเรียนในฐานข้อมูลปรับมาเป็น 5,048,000 ราย แสดงความจำนงเข้ามา 3,618,000 กว่าราย คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 71 โดย จ.ภูเก็ต ส่งมีนักเรียน 33,330 คน ส่งยอดความต้องการครบ 100% อาจเพราะเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ส่วนกรุงเทพฯ มีนักเรียนมากสุด 4.2 แสนคน แจ้งเข้ามา 3.5 แสนราย คิดเป็น ร้อยละ 85 ส่วนพื้นที่ถึงหลักแสนราย เช่น นครศรีธรรมราช นักเรียน 1.03 แสนราย แจ้งเข้ามา 8.8 หมื่นราย คิดเป็น ร้อยละ 85 นครราชสีมา นักเรียน 176,000 ราย แจ้งเข้ามา 144,000 ราย คิดเป็น ร้อยละ 81 เป็นต้น

 

 

เมื่อถามต่อว่าจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัดอย่างไร เนื่องจากล็อตแรกมี 2 ล้านโดส แต่ความต้องการมีมากกว่า คือ 3.6 ล้านคน นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า เราจัดส่งให้ทุกจังหวัด ไม่ได้แบ่งแยกพื้นที่สีว่าต้องให้พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดก่อน โดยให้วัคซีนไปตามจำนวนที่เหมาะสม ส่วนจะให้สัดส่วนแต่ละจังหวัดเท่าไรนั้น อาจจะประมาณจังหวัดละ ร้อยละ 50 แต่ต้องดูเรื่องความพร้อมของแต่ละจังหวัดด้วย อย่างบางพื้นที่อาจยังไม่พร้อม จึงไม่ได้เริ่มฉีดในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ก็อาจรับสัดส่วนที่น้อยก่อน เนื่องจากแต่ละพื้นที่คงไม่ได้วัคซีนครบจบในครั้งเดียว แต่จะกระจายให้ครบทั่วถึงในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งช่วงเดือนตุลาคม จะมีวัคซีนอีก 8 ล้านโดส

 

 

“ก็คิดว่ามีจังหวะเวลาในการบริหารจัดการได้ แต่เรื่องการฉีดอาจไม่สามารถจบได้ในสัปดาห์เดียว อาจจะมีสัปดาห์ที่ 2 หรือ สัปดาห์ที่ 3 ที่มีการเก็บตกคนเปลี่ยนใจมาขอฉีดเพิ่มภายหลัง ซึ่งเราก็จะไม่ให้เสียสิทธิ หากแจ้งความจำนงเข้ามาก็สามารถฉีดได้ ถ้าเริ่มฉีดในสัปดาห์แรก เข็มที่ 2 น่าจะมาไม่เกินสัปดาห์ที่ 4 แต่ในหลายพื้นที่ นักเรียนอาจจะฉีดเข็มแรกไม่เสร็จสิ้นในสัปดาห์เดียว อาจมีสัปดาห์ที่ 1 และสัปดาห์ที่ 2 จะมีการเหลื่อมเวลากันไป จะมีการพิจารณารายละเอียดพื้นที่ จะทำอย่างไรไม่ให้กระทบในการเปิดเรียน ไม่อยากให้เป็นเงื่อนไขตรงนี้เข้าไป กิจกรรมการเรียนจะได้ต่อเนื่อง โดยไม่มีการขีดระยะเวลาสิ้นสุดการฉีดวัคซีน เพราะบางครั้งการแจ้งความต้องการอาจจะมีการแก้ไขหรือมีคนเพิ่มเติมภายหลัง โดยหลักๆ น่าจะฉีดในเดือนตุลาคมนี้ แต่ใครที่ตกหล่นด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ยังฉีดต่อเนื่องไปได้ ไม่ต้องกลัวเสียสิทธิ” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสรุปของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติระบุว่า การฉีดไฟเซอร์ในเด็ก 12 ปีขึ้นไป ให้ฉีด 2 เข็ม ห่าง 3-4 สัปดาห์ แต่ระหว่างนี้มีข้อมูลวิชาการการเรื่องการลดจำนวนเข็ม การแยกความเสี่ยงระหว่างชายหญิง ต้องเรียนว่า ข้อแนะนำที่มีอยู่เป็นข้อปฏิบัติของสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว มีความปลอดภัยสูง ถ้ามีข้อมูลวิชาการเพิ่มเติมเข้ามา คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันก็จะนำมาพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะ เพราะฉะนั้น การฉีดเมื่อมีตารางนัดหมายไปฉีดเข็มแรกไว้ก่อน หากมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ก็ยังมีจังหวะเวลาที่จะประกาศและดูแลกันได้ ไม่ต้องห่วงกังวล อย่างเรื่องอาการไม่พึงประสงค์ ก็มีการติดตามจะเอาเข้ามาประกอบด้วย คาดว่าทันก่อนการฉีดเข็มที่ 2 นอกจากนี้ ย้ำว่าการฉีดไม่เสียค่าใช้จ่าย หากมีที่ใดแจ้งว่าเสียเงิน ขอให้แจ้งเข้ามาเพื่อตรวจสอบ

 

 

“ส่วนกลุ่มเด็กประถมที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับวัคซีน คือ อายุต่ำกว่า 12 ปี ประเทศโดยส่วนใหญ่ยังไม่ขยายการฉีดวัคซีน อย่างอเมริกา เขียนชัดเจนว่าฉีดอายุ 12 ปีขึ้นไป หากต่ำกว่านี้ใช้มาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะฉะนั้น ความก้าวหน้าทางวิชาการตรงนี้ ให้รอติดตามต่อไปต่อไป และไม่ต้องกังวล เพราะการมีมาตรการที่ดี จะทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนเกิดขึ้นได้ ในรายละเอียดแต่ละพื้นที่จะมีการหารือทั้ง สธ. ศธ. และ อว. จะตรวจสอบความพร้อมในทุกๆ พื้นที่” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง