รีเซต

งดเหล้าเข้าพรรษา ดัน อ.สวรรคโลก ต้นแบบ "อำเภอสร้างสุข"

งดเหล้าเข้าพรรษา ดัน อ.สวรรคโลก ต้นแบบ "อำเภอสร้างสุข"
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2565 ( 17:27 )
99
งดเหล้าเข้าพรรษา ดัน อ.สวรรคโลก ต้นแบบ "อำเภอสร้างสุข"

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมคณะผู้ประสานงาน สคล. ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และร่วมรับฟังข้อเสนอแนวทางการทำงาน 

ภายใต้โครงการประชาคมลดปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงจังหวัดสุโขทัย ปี 2565  โดยมี นาย จิรชาติ นาคสวัสดิ์ นายอำเภอสวรรคโลก กล่าวต้อนรับ และนายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวเปิดงาน ณ เลิฟวิว รีสอร์ท อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดคลองกระจง อ.สวรรคโลก และผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดสุโขทัย กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการรณรงค์ ลดละเลิกเหล้า จนนำไปสู่ “อำเภอสวรรคโลกสร้างสุข” ว่า สถานการณ์ปัญหา ปี 2560-2565 โดยในปี 2560 

พบว่า สุโขทัยมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขั้นไป (37.2%) ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 10 ของประเทศ และอันดับ 2 ของภาคเหนือตอนล่าง แม้ว่าในปี 2564 จะลดลง (30.0%) แต่ก็ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ (28.0%)

นอกจากนี้ ประชากรวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี ของสุโขทัย มีอัตราการดื่ม เท่ากับ 19.6% ซึ่งสูงกว่าอัตราชุกระดับประเทศ (13.6%)  อยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศ และยังพบว่า สัดส่วนการดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ จังหวัดสุโขทัยสูงเป็นอันดับ 7 (62.6%) ของประเทศ และอันดับ 2 ของภาคเหนือตอนล่าง

ในปี 2564 พบว่า ร้านค้าและสถานบันเทิง ยังมีการละเมิด พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ทั้งการโฆษณา การจัดโปรโมชั่น ขาดความเข้มงวด โดยให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการ และกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของบริษัทผู้ค้าก็มุ่งเน้นการโฆษณาตราเสมือนเครื่องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานนอกจากรณรงค์ลดละเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีแล้ว เรายังมุ่งเป้าป้องกันไม่ให้มีนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะในเยาวชนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในการทำงานที่ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานภาคราชการ นอกจากประเด็นเรื่องลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว อยากจะขยายและหาแนวร่วมการทำงานมากขึ้น ไม่เฉพาะเรื่องแอลกอฮอล์อย่างเดียว จึงเห็นพ้องกันว่า เป้าหมายของพวกเรา คือ การเป็นอำเภอสร้างสุข 

ขณะเดียวกันเรามองว่า เยาวชนเป็นอนาคตของชาติและเป็นอนาคตของชุมชนเราด้วย จึงเปิดรับข้อเสนอหรือแนวคิดจากเยาวชนในพื้นที่ว่า อนาคตเขาอยากให้พื้นที่ของเขาเป็นพื้นที่ที่มีความสุขในมิติใดบ้าง ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าว นำไปสู่การสรุปเป็นกรอบการทำงานได้  4 แนวทาง 

คือ 1) ส่งเสริมให้ประชาชนลดละเลิกการดื่มสุรา สูบบุหรี่และปลอดอบายมุขและลดนักดื่มหน้าใหม่ 2)  ส่งเสริมงานบุญประเพณีสร้างสุขให้ปลอดเหล้าและสิ่งอบายมุขทุกประเภท  3) เกิดความปลอดภัยของคนใช้รถใช้ถนน ปลอดจากอุบัติเหตุ และ 4) ลดจำนวนขยะมูลฝอยจนนำไปสู่อำเภอสวรรคโลกปลอดขยะ

นายจิรชาติ นาคสวัสดิ์ นายอำเภอสวรรคโลก  จ.สุโขทัย กล่าวว่า การที่เรานำเอาข้อเสนอแนะของเยาวชนในพื้นที่มาเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงาน เพราะเราต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขา คือ อนาคตของชุมชน เราก็เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ในการณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

กลุ่มเป้าหมายสำคัญเน้นไปที่เด็กนักเรียน เยาวชน พยายามสกัดนักดื่มหน้าใหม่ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย การจัดระเบียบสังคมเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเรื่องของสภาวะแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในชุมชน การที่จะทำให้ยั่งยืนได้ต้องทำในคนรุ่นต่อไปซึ่งก็คือ เด็กเยาวชนของเรานั่นเอง 

นอกจากที่จะป้องกันนักดื่มหน้าใหม่แล้วเรายังให้เขาเป็นกลไกหลักในการทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน  สร้างความรู้ความเข้าใจให้เยาวชนเข้าใจ ใน 4 ภาระกิจหลัก แล้วก็ให้เขามาสานต่อตรงนี้ให้ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการส่งต่อรุ่นต่อไป โดยการทำให้ยั่งยืนเราเน้นเรื่องของการทำงานเป็นทีมให้ความสำคัญกับทุกความคิด ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ 

เช่น กระทรวงมหาดไทย สรรพสามิต กรมการปกครองท้องถิ่น สาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)   สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และภาคประชาสังคม 

ร่วมระดมความคิดมันสมองเป็นหลักเพื่อให้เกิดการระเบิดจากข้างใน เหมือนที่เขาพูดว่านี่มันเป็นปัญหาในพื้นที่ของเขา ๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ขยับขึ้นมาในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัดต่อไป

“จากกรอบทั้ง 4 แนวทาง ได้ร่างคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อให้การขับเคลื่อนมีทิศทาง ได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้  ทั้งเรื่องลดละเลิกอบายมุข ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่มีกฎหมายหลายฉบับเข้ามาเกี่ยวข้อง 

และหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการศึกษา สาธารณสุข สรรพสามิต การทำงานมีทั้งเครือข่ายท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กเยาวชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจใน 4 แนวทาง ของโครงการอำเภอสวรรคโลกสร้างสุข ตรงนี้ก็จะยั่งยืนและมีความต่อเนื่องในอนาคต” นายจิรชาติ กล่าว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า อำเภอสวรรคโลก เป็นพื้นที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ เป็นแบบอย่างที่ดีได้ในอนาคต ทั้งนี้ การนำขอเสนอของเด็กมาเป็นกรอบในการทำงาน เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าเยาวชนในพื้นที่มีการตอบสนองต่อปัญหาท้องถิ่น เขาอยากเห็นอะไรในอนาคต ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานราชการในท้องถิ่นก็ตอบสนอง

โดยไม่ได้รอคำสั่งมาจากส่วนกลาง ซึ่งปัญหาในท้องถิ่น หน่วยงานราชการก็พยายามสร้างสรรค์ช่องทางในการดำเนินงานในการตอบโจทย์ของท้องถิ่นตนเอง แน่นอนว่าหน่วยงานราชการ ก็มีหน่วยชี้วัด หรือ KPI เป้าหมายในการทำงานที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลาง 

แต่ที่นี่กลับสามารถนำมาบูรณาการให้ทำงานร่วมกันได้ ส่วนประชาสังคมก็ลงไปช่วยชาวบ้าน เกิดเป็นภาพความสามัคคี มีวิธีการทำงานร่วมกันที่ตอบโจทย์การป้องกันปัจจัยเสี่ยง ไม่ได้เฉพาะเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทั้งความปลอดภัยทางถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต สามารถเชื่อมโยงกันได้ทุกมิติ

สิ่งที่น่าสนใจ คือ เจ้าหน้าที่ที่ร่วมขับเคลื่อนงาน ส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่นของที่นี่ ส่วนหนึ่งเขาไม่ได้ทำเพียงเพื่อสนองต่อนโยบายส่วนกลางเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เขาทำเพื่อบ้านเกิดของตนเอง พื้นที่ที่เขาอยู่ต้องดีกว่านี้ เพราะหลังเกษียณเขาต้องอยู่ที่นี่ 

หากประเด็นนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี การโยกย้ายราชการก็น่าจะคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย โดยนำคนท้องถิ่นกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องกลับมาอยู่ที่นี่ ดังนั้น ควรให้คนท้องถิ่นที่เก่ง มีความรู้ความสามารถและมีความมุ่งมั่นได้กลับมาทำคุณประโยชน์ให้กับท้องถิ่นตนเอง.




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง