รีเซต

รู้จัก "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2" รุนแรงแค่ไหน ตรวจ ATK เจอโอมิครอนไหม?

รู้จัก "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2" รุนแรงแค่ไหน ตรวจ ATK เจอโอมิครอนไหม?
Ingonn
27 มกราคม 2565 ( 13:04 )
272
รู้จัก "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2" รุนแรงแค่ไหน ตรวจ ATK เจอโอมิครอนไหม?

โควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น หลังจากมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น เป็นสายพันธุ์ย่อย ไม่ว่าจะเป็น  BA.1,  BA.2 และ BA.3  ซึ่งสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ทำให้มีคนไทยติด โอมิครอน BA.2 มากถึง 14 รายแล้ว และเพิ่มขึ้นได้อีก พร้อมทั้งมีเหตุเสียชีวิตจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้ว 1 ราย

 

วันนี้ TrueID จึงจะพามาวิเคราะห์ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 การแพร่เชื้อ และความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน เป็นอย่างไรบ้าง มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 หรือไม่

 

สายพันธุ์โอมิครอนในไทย มีอะไรบ้าง

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ในโลกนี้มีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 ตัว คือ BA.1,  BA.2 และ BA.3  สายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั่วโลก คือ BA.1 เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า BA.2 เริ่มพบในต่างประเทศมากขึ้น 

 

ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศไทย ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย 


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ระบุว่า ธรรมชาติของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อเกิดมีสายพันธุ์หลักก็จะติดตามมาด้วยการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ในกรณีของโอมิครอนจะมีสายพันธุ์หลักเป็น“B.1.1.529” หรือ “BA.1” แล้วเริ่มมีการกลายพันธุ์ไปอีก 2 สายพันธุ์ย่อยคือ“BA.2” และ “BA.3”  

 

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คืออะไร

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 บางครั้งถูกเรียกว่า “สายพันธุ์ล่องหน (Stealth Variant)” เพราะสามารถตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีน ทำให้แยกไม่ออกระหว่าง "เดลตา" กับ "BA.2" เพราะทั้งเดลตาและ BA.2 ตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีนเช่นกัน

 

BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากที่สุดประมาณ 70-80 ตำแหน่ง และยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนทางคลินิกว่ามีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 หรือไม่

 

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีตรวจพบ BA.2  จำนวน 1 ตัวอย่าง ด้วยเทคโนโลยี "Mass array genotyping" ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง ผล X-ray มีอาการปอดบวมเล็กน้อย แพทย์ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ไป และสามารถหายดีได้ โดยตรวจไม่พบไวรัสจากตัวอย่างสวอป ผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดยังตรวจไม่พบเชื้อ 

 

ลักษณะโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2

ลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3  สายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน ยืนยันได้ว่าในการคัดกรองยังสามารถตรวจเบื้องต้นโดยใช้ชุดตรวจ ATK ตรวจคัดกรองได้
 

ซึ่งโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งของสายพันธุ์โอมิครอน 


โดยในช่วงแรกประเทศไทยยังคงพบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน เฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประมาณสามสัปดาห์ต่อมาเริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดยเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบในคลัสเตอร์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 


โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 รุนแรงไหม 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ  ระบุว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้ มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นมากกว่าสายพันธุ์ BA.1 อีก 20 ตำแหน่ง แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่ไม่ได้รุนแรงมากขึ้น ไม่ทำให้คนเข้านอนในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ไม่น่าจะหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ถ้าเคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 ยังมีภูมิคุ้มกันเพียงพอทำให้ไม่ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 อีก ขณะนี้สายพันธ์ BA.2 ยังไม่ถูกจัดเป็นสายพันธ์ุที่น่ากังวล


คนไทยไม่ต้องวิตกกังวลกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากเกินไป ในอดีตที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ก็มีสายพันธุ์ย่อยเดลต้าพลัส แต่พอสายพันธุ์โอมิครอนมา สายพันธ์ุเดลต้า และเดลต้าพลัสก็ถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน


ถ้าจะมีการระบาดรอบต่อไป ต้องมีการกลายพันธุ์มากกว่าเดิมจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดง่ายกว่าโอมิครอน และหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เชื่อว่าคงเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนหลังจากโอมิครอน โรคโควิด-19 ก็จะเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ในที่สุด

 

ตรวจโควิด ตรวจ ATK เจอโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ไหม

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ระบุว่า โอมิครอน BA.2 ตรวจแยกสายพันธุ์ยากขึ้น เนื่องจากตำแหน่งบางตำแหน่งไม่เหมือนที่พบในโอมิครอนปกติ แต่การตรวจหาเชื้อโดย RT-PCR ยังทำได้เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าอาจต้องใช้เวลาเพิ่มเติมตรวจสอบว่าเป็น BA.2 หรือ สายพันธุ์อื่นๆ เช่น เดลต้า 

 

ประเด็นข้อสงสัยเดียวกันทำให้มีคำถามตามมาว่าชุดตรวจ ATK ยังสามารถใช้ตรวจ BA.2 ได้เหมือนเดิมหรือไม่ ถึงแม้ว่าเรายังไม่มีไวรัส BA.2 ออกมาทดสอบได้โดยตรง แต่การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งเป็นโปรตีนที่ ATK ตรวจจับ ระหว่าง BA.1 และ BA.2 พบว่า มีความใกล้เคียงกันเกือบ 100% มีกรดอะมิโนที่แตกต่างกัน 2 ตำแหน่งใน 416 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า ATK ที่สามารถตรวจวัด BA.1 หรือ โอมิครอนที่ระบาดอยู่ก่อนแล้วได้ จะไม่มีประเด็นที่จะตรวจไม่พบ BA.2 ได้ครับ ยังใช้งานได้ตามปกติ

 

 


ข้อมูล : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC  , เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana , เฟซบุ๊ก  Center for Medical Genomics

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง