รีเซต

ผู้เสียหายเฮ ดีอีเอส-ตร.จับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม มูลค่ากว่า 13 ล้าน

ผู้เสียหายเฮ ดีอีเอส-ตร.จับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม มูลค่ากว่า 13 ล้าน
ข่าวสด
11 เมษายน 2565 ( 15:15 )
130

 

ดีอีเอส-ตำรวจไซเบอร์ จับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม มูลค่าเสียหายกว่า 13 ล้าน ตรวจยึดของกลางกว่า 60 รายการ พบผู้เสียหาย 71 ราย

 

เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2565 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยพ.ต.อ.เอกนิรุจฒิ์ วันสิริภักดิ์ ผกก.2 บก.สอท.1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงผลการดำเนินคดีกับเพจสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า ว่า ล่าสุดติดตามตัวและจับกุมเจ้าของร้านขายสินค้าภายใต้ชื่อไอจี และเพจ The Sandy Brand มาดำเนินคดีได้แล้ว ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) พร้อมตรวจยึดของกลางกว่า 60 รายการ ล่าสุดมีการอายัดบัญชีแล้ว

 

จากกรณีเมื่อกลางเดือน ก.พ. 2565 มีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง รวมตัวเดินทางมาร้องเรียนกรณีสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากเพจ The Sandy Brand แล้วไม่ได้รับสินค้า ครอบคลุมตั้งแต่ราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน พบมีผู้เสียหายอย่างน้อย 71 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 13 ล้านบาท

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้อยากให้เป็นอุทาหรณ์ไปยังประชาชน ในการซื้อสินค้าราคาสูงทางออนไลน์ ต้องตรวจสอบผู้ค้าให้ดีว่ามีความน่าเชื่อถือ ถ้าจะโอนเงินต้องมีหลักประกัน อย่าเชื่อแต่รูปภาพสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์ เพราะอาจไม่มีสินค้าจริง หรือมีแล้วอาจไม่จัดส่งให้ เมื่อเกิดความเสียหาย กระบวนการดำเนินคดีต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐาน และกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อติดตามเอาเงินคืน

 

ปัจจุบันช่องทางการซื้อขายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดมากกว่า 80% คือเฟซบุ๊ก เราเข้าใจความรู้สึกคือเงินเราก็จ่ายไปแล้วเราก็อยากได้ของ ถ้าของไม่ได้เราก็อยากได้เงินเราคืนให้เร็วที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งจับกุมดำเนินคดีแล้วอายัดบัญชีก็คือ ไม่ให้บัญชีโอนเงินไปที่อื่น ตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินย้อนหลังเพื่อจะได้เงินคืนให้ได้มากที่สุด อันนี้คือแนวทางนโยบายที่ตนได้ให้ไป

 

รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า โดยพฤติกรรมกระทำความผิด มิจฉาชีพเปิดเพจร้านขายผ่อนกระเป๋าแบรนด์เนม มีการถ่ายรูปออฟฟิศสร้างความน่าเชื่อถือ มีตัวอย่างสินค้าทำการไลฟ์สด แต่เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับสินค้า เมื่อติดต่อทวงถาม จะบ่ายเบี่ยง อ้างว่าไม่สามารถส่งสินค้าได้ เนื่องจากระบบขนส่งเป็นอัมพาตจากเหตุโควิดระบาด

จับโกงออนไลน์

คดีนี้ ผู้เสียหายมีการแจ้งความไว้ และเดินทางมาร้องเรียนที่ดีอีเอส เบื้องต้นกระทรวงฯ ได้แจ้งไปยังเฟซบุ๊ก ขอความร่วมมือให้ปิดกั้นยูอาร์แอลของร้านค้าออนไลน์รายนี้ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 กรณีเป็นผู้ให้บริการ และหากยังไม่ได้รับความร่วมมือจะเร่งขอคำสั่งศาล ตามมาตรา 20 ที่ว่าด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์ และที่เป็นความผิดกฎหมายอื่น /ลักษณะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

ผมได้สั่งการให้เร่งติดตามผู้กระทำผิด มาดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายให้ได้เงินคืนโดยเร็ว อีกทั้งป้องกันไม่ให้ประชาชนรายอื่นๆ เป็นเหยื่อกลโกงของผู้ค้าออนไลน์ในลักษณะนี้ โดยเป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่เป็นห่วงเรื่องนี้ มอบหมายให้ดีอีเอส ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รีบปิดกั้น อายัดบัญชี และดำเนินคดีโดยเร็ว แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน อีกทั้งเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อธุรกิจออนไลน์” นายชัยวุฒิกล่าว

 

ด้านชนิดาภา นาราภัทรสกุล ผู้เสียหาย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องหาได้ เเละอยากเตือนคนที่ซื้อสินค้าออนไลน์กระเป๋าเเบรนด์เนม อยากให้ระวัง ถ้าให้ชัวร์ที่สุดคือ นัดรับสินค้าเลยดีกว่า เเละไม่อยากให้เห็นว่าของถูก หรือน่าเชื่อถือเพราะเราโดนกันมาแล้ว นัดรับดีที่สุด

 

นอกจากนี้อยากให้ดำเนินการให้ถึงที่สุด ไม่อยากให้ผู้ต้องหาที่พ้นโทษไปแล้ว หรือเอาเงินคืนผู้เสียหายแล้วมายอมความกัน เเละกลับมาทำอาชีพแบบเดิมอีก

 

ขณะที่น.ส.ฐานวีร์ ลีเลิศพันธุ์ ผู้เสียหาย กล่าวว่า อยากให้ดูให้ดีก่อน อาจต้องศึกษาร้าน ให้ดีก่อนว่าเขาส่งของจริงหรือไม่ หรือมีรีวิว หรือกลุ่มเฟซบุ๊ก ให้เช็กกันว่าร้านนี้ส่งจริงไหม ก็เข้าไปเช็กในนั้นก่อนก็ได้ เบื้องต้นอยากให้ตรวจสอบให้ดีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจับกุมครั้งนี้ ดำเนินการตามหมายจับศาลอาญา ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้โดยการทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และบช.สอท. เร่งบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาจากการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ โดยประชาชนแจ้งเบาะแส ปัญหา หรือขอคำปรึกษา เข้ามาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ผ่านช่องทาง ดังนี้ สายด่วนโทร. 1212 อีเมล์ 1212@mdes.go.th เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังแจ้งได้ผ่านกล่องข้อความของเพจอาสาจับตาออนไลน์ที่ https://m.facebook.com/DESMonitor/ หรือโทรสายด่วนของ บช.สอท.1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง