สงครามยังไม่สงบ 'สภาพัฒน์' คาดเงินเฟ้อพุ่ง 6% แย้มขึ้นราคาดีเซลขั้นบันได
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ สศช.จะแถลงภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2565 โดยประเมินว่า ทิศทางผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสที่ 4/2564 และไตรมาส 1/2564 แม้จะมีสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครน ราคาพลังงานที่ผันผวน ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูง และราคาสินค้าแพงขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไปได้อยู่ โดยคาดว่าทั้งปี 2565 เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3 %
“แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังไม่มีปัจจัยมาฉุดรั้งมากกว่าปัจจัยเดิมที่มีอยู่ ทั้งสงครามรัสเซียกับยูเครนยังไม่จบ อัตราเงินเฟ้อที่ยังพยายามคุม ยังมีสินค้าโภคภัณฑ์ วัตถุดิบที่ยังราคาสูง ทั้งอาหารสัตว์ ปุ๋ย เหล็ก ทองแดง จากสงครามที่ยังไม่ยุติ ยิ่งรบกันนาน ราคาจะยิ่งผันผวนมากขึ้น ซึ่งวัตถุดิบเป็นปัจจัยการผลิตของประเทศ” นายดนุชากล่าว
รอผล 10 มาตรการ-ท่องเที่ยวฟื้นตัว
นายดนุชา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการด้านการคลัง 10 มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ จะต้องรอดูผลเชิงบวกว่าช่วยเหลือประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางมาตรการจะเห็นผลเร็ว เช่น การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเรื่องน้ำมัน ค่าก๊าซ แต่บางมาตรการต้องรอประเมินในภาพใหญ่ ภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้จะเริ่มประเมินผลอีกทีว่าเป็นอย่างไร โดยประเมินร่วมกับสถานการณ์ในเวลานั้นด้วย เพราะไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
นายดนุชา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังนี้ จะมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6 แสนคน มากว่าปี 2563 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งปีอยู่ที่ 5 แสนคน ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้คงจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกเรื่อยๆ ล่าสุดรัฐผ่านคลายมาตรการเข้าประเทศให้สะดวกมากขึ้น ถือเป็นการเปิดประเทศเกือบเต็มรูปแบบ 100 % ยังเหลือการปลดล็อกไทยแลนด์พาสที่จะพิจารณาครั้งต่อไป จะส่งผลให้การท่องเที่ยวค่อยๆฟื้นตัวขึ้น แต่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 4-5 ล้านคนเท่านั้น
คาดเงินเฟ้อพุ่ง6%จ่อช่วยผู้มีรายได้น้อย
นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศไทยเกิดจาก Cost push (อุปทาน) ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่ม เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งราคาน้ำมัน และสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งหากสถานการณ์ยังยือเยื้อมีความเป็นไปได้อัตราเงินเฟ้อระหว่างปีจะอยู่ที่ 6% แต่คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อจะไม่เกินกรอบ 4.9% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ ขณะที่ทางรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เกาะติดเรื่องราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ขอขึ้นราคาสินค้า ต้องดูต้นทุนว่าเพิ่มขึ้นแค่ไหนอย่างไร
“ถ้าเศรษฐกิจยังโตได้ เงินเฟ้อก็ยังไม่น่าห่วงมาก แต่ต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้มีรายได้น้อย เพราะคนไทยมีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มรายได้ปานกลาง กลุ่มปานกลางค่อนข้างสูง และกลุ่มรายได้สูง ซึ่ง 3 กลุ่มนี้มีความสามารถรับมือเงินเฟ้อที่ 6-7% ได้ แต่คนที่มีรายได้น้อย รัฐจะต้องเข้าไปช่วย หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางก็อาจจะต้องมีมาตรการบางอย่างมาช่วยด้วย เป็นคนละมาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้ รอประเมินสถานการณ์ไตรมาสที่2นี้มีผลกระทบรุนแรงแค่ไหน”
เงินกู้เหลือ7.4หมื่นล้านยังพอ
นายดนุชากล่าวว่า ประเมินจากสถานการณ์ในขณะนี้ วงเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ที่ยังเหลือ 7.4 หมื่นล้านบาท ยังเพียงพอใช้ในการพยุง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 โดยยังไม่เกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งต้องประเมินหลังจากนี้ ส่วนจะต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่ ต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยที่จะเข้ามากระทบ และเป็นปัจจัยเสี่ยง อาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีว่าเป็นความเสี่ยงถึงขั้นวิกฤตหรือเปล่า
ริบคืนเงินโครงการยังไม่ประมูล
นายดนุชา กล่าวว่า ถ้าหากถึงขั้นวิกฤต อาจจำเป็นต้องหาแหล่งเงิน หรือมีงบประมาณสักก้อนในการใช้พยุงเศรษฐกิจ โดยดึงงบประมาณลงทุนโครงการต่างๆ ที่ยังไม่ประมูลหรือก่อหนี้กลับคืนมา และนำมาจากงบประมาณกลางปี ซึ่งแต่ละปีจะมีงบกลางอยู่แล้วที่สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ขณะนี้ทางสำนักงบประมาณบอกว่า มีงบกลางเหลืออยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ก็ต้องนำมาใช้เยียวยาอุทกภัยที่จะเกิดช่วงนี้ด้วย อีกทั้งยังต้อวประเมินการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังด้วยว่าเกินจากเป้ามากน้อยแค่ไหน
รัฐช่วยส่วนต่างดีเซลคนละครึ่ง
นายดนุชากล่าวถึงโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ว่า เป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงการคลังไปดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เหมาะสมที่จะทำหรือไม่ ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนการที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนั้น จะเป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันได และรัฐบาลจะเข้าไปช่วยครึ่งหนึ่ง อย่างเช่น ในวันนั้นน้ำมันอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อแปลงเป็นราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 38 บาท/ลิตร รัฐบาลจะช่วยส่วนต่าง 4 บาท ราคาขายจริงอยู่ที่ 34 บาท และไม่ได้ขึ้นทีเดียว จะทยอยขึ้นจาก 32 บาท จนถึง 34 บาท
ชี้วิกฤตทั้งโลก ต้องช่วยกันประหยัด
“ที่คาดกันว่าเดือนพฤษภาคมนี้ของทุกอย่างจะแพงขึ้นจากการที่รัฐไม่คุมน้ำมันนั้น เป็นการคาดการณ์ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด เลยทำให้คนตกใจ ซึ่งไม่จำเป็น ที่น้ำมันขึ้นแล้ว สินค้าทุกอย่างต้องขึ้น เพราะต้นทุนการขนส่งสินค้าแต่ละตัวไม่เท่ากัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจจะยังไม่อยากขึ้นราคาในตอนนี้ก็ได้ เพราะถ้าขึ้นไปแล้วขายไม่ได้จะมีปัญหา อาจจะรอดูสถานการณ์ไปก่อนก็ได้ อยากให้ประชาชนเข้าใจตรงนี้ด้วยว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นทั้งโลก เป็นโลกที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีโรคระบาด สงคราม ราคาน้ำมันที่ผันผวน มันเป็นวิกฤตที่ทุกประเทศโดนเหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่ไทย เมื่อเป็นวิกฤตเรา ต้องปรับตัว ต้องประหยัดมากขึ้น เราต้องช่วยกัน” นายดนุชากล่าวปิดท้าย