รีเซต

ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ วันสุดท้าย! รีบเลยยื่นออนไลน์ถึงเวลา 24.00 น.

ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ วันสุดท้าย! รีบเลยยื่นออนไลน์ถึงเวลา 24.00 น.
TNN ช่อง16
29 กุมภาพันธ์ 2567 ( 11:24 )
42
ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ วันสุดท้าย! รีบเลยยื่นออนไลน์ถึงเวลา 24.00 น.

ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ วันนี้วันสุดท้าย สามารถยื่นทางออนไลน์ได้ถึงเวลา 24.00 น. ล่าสุดมีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 149,833 ราย


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 90 โดยเมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้( 28 ก.พ.) สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียนพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 149,833 ราย มูลหนี้รวม 11,097.302 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 123,874 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 25,959 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 121,688 ราย 


มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ 


1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 11,257 ราย เจ้าหนี้ 8,788 ราย มูลหนี้ 1,011.944 ล้านบาท 


2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 6,010 ราย เจ้าหนี้ 5,750 ราย มูลหนี้ 413.291 ล้านบาท 


3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,494 ราย เจ้าหนี้ 4,487 ราย มูลหนี้ 364.302 ล้านบาท 


4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 5,179 ราย เจ้าหนี้ 4,310 ราย มูลหนี้ 456.289 ล้านบาท 


5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 4,256 ราย เจ้าหนี้ 3,178 ราย มูลหนี้ 406.492 ล้านบาท 


ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 


1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 246 ราย เจ้าหนี้ 246 ราย มูลหนี้ 14.924 ล้านบาท 


2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 355 ราย เจ้าหนี้ 273 ราย มูลหนี้ 24.553 ล้านบาท 


3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 399 ราย เจ้าหนี้ 314 ราย มูลหนี้ 18.796 ล้านบาท 


4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 472 ราย เจ้าหนี้ 347 ราย มูลหนี้ 20.755 ล้านบาท 


 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 484 ราย เจ้าหนี้ 396 ราย มูลหนี้ 28.028 ล้านบาท


“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 27,870 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 17,848 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,545.028 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,783.867 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 761.160 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,346 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 491 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 284.479 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 50.810 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 233.668 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว 294 คดี ใน 40 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีความมุ่งมั่นในการที่จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เป็นหนี้นอกระบบ เพราะต้องชำระดอกเบี้ยสูงมากและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังมีกระบวนการวิธีการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุณ


“ในส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเร่งดำเนินการเชิญลูกหนี้และเจ้าหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% โดยบูรณาการร่วมกับอัยการ ตำรวจ สถาบันการเงินของรัฐ ในการไกล่เกลี่ยตกลงกันโดยใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด และขอให้ทุกจังหวัดได้ดำเนินการตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน 


ในส่วนของข้อมูลเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้กรมการปกครองบูรณาการข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการสืบหาเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ทวงหนี้แบบข่มขู่และใช้ความรุนแรง แต่หากเกิดกรณีไม่สามารถไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที ถึงแม้ว่าเราจะปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 แต่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้เกิดความต่อเนื่อง ขอให้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ประชาสัมพันธ์ช่องทางสายด่วน 1567 ของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนทั้งเรื่องหนี้นอกระบบ หรือเรื่องอื่น ๆ สามารถขอความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือกระทรวงมหาดไทยได้ในทุกเรื่อง 


นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ได้นำพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ เข้าไปช่วยสนับสนุนทำเมนูแก้จน หรือที่เรียกว่า “เมนูพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” เป็นคู่มือในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยการ Re X-ray ผู้ที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย คัดแยกประเภทเพื่อหาแนวทางการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ หรือการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยห่างไกลการก่อหนี้ใหม่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขณะนี้คงเหลือเวลาอีกเพียง 1 วันที่พี่น้องประชาชนยังสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเราจะรับลงทะเบียนวันสุดท้ายคือวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะปิดการลงทะเบียนของศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ภายในเวลา 16.30 น. (เวลาราชการ) และช่องทางออนไลน์ ภายในเวลา 24.00 น. ของวันดังกล่าว 


อย่างไรก็ตามภาครัฐมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนที่เป็นหนี้นอกระบบ ได้มาลงทะเบียนให้ข้อมูลกับทางหน่วยงานภาครัฐ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง On-site ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง





ที่มา รัฐบาล

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง