รีเซต

"สปสช." เผยเบิกจ่ายเคส "โควิด-19" กว่า 1,826 ล. ตรวจหาเชื้อกว่า 4 แสนราย

"สปสช." เผยเบิกจ่ายเคส "โควิด-19" กว่า 1,826 ล. ตรวจหาเชื้อกว่า 4 แสนราย
มติชน
3 สิงหาคม 2563 ( 16:32 )
95
"สปสช." เผยเบิกจ่ายเคส "โควิด-19" กว่า 1,826 ล. ตรวจหาเชื้อกว่า 4 แสนราย
“สปสช.” เผยเบิกจ่ายเคส “โควิด-19” กว่า 1,826 ล. ตรวจหาเชื้อกว่า 4 แสนราย

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ร่วมรับทราบผลดำเนินงานของ สปสช. ช่วงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กองทุนบัตรทอง ร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด ลดความแออัดในโรงพยาบาล (รพ.) ลดความเสี่ยงติดเชื้อให้กับผู้ป่วยและลดการแพร่ระบาด

สำหรับภาพรวมจากข้อมูลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม สปสช.ได้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการแล้วจำนวน 1,826,306,260 บาท โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้

1.การตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 และค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะแรก ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 ผ่านการรับรองมาตรฐาน จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ในระบบบัตรทอง 190 แห่ง แยกเป็นภาครัฐ 132 แห่ง และภาคเอกชน 58 แห่ง จากข้อมูลวันที่ 2 มีนาคม – วันที่ 20 กรกฎาคม มีประชาชนรับการตรวจคัดกรองและหน่วยบริการขอรับค่าใช้จ่าย 401,946 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,245 ล้านบาท โดยข้อมูลแยกตามสิทธิพบว่า เป็นผู้มีสิทธิประกันสังคมมากที่สุดร้อยละ 51 รองลงมา บัตรทอง ร้อยละ 34 และข้าราชการ/สิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 12

2.การรักษาพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 สปสช.จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้หน่วยบริการที่รับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากระบบปกติ ครอบคลุมค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ค่าห้องควบคุมและค่าอาหาร ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ ข้อมูลวันที่ 20 กรกฎาคม มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารักษาพยาบาล 25,953 ราย รวมค่าเป็นค่าบริการ 524,252,240 บาท แยกเป็นบริการผู้ป่วยนอก 320 ราย เบิกจ่ายจ่ายชดเชย 583,090 บาท บริการผู้ป่วยใน 1,580 ราย เบิกจ่ายชดเชย 79,054,849 บาท และผู้ป่วยกรณีเข้าเกณฑ์สอบสวน (PUI) 24,053 คน เบิกจ่ายชดเชย 444,614,301 บาท

3.บริการจัดส่งยาหรือเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ในผู้ป่วยอาการคงที่และตามการวินิจฉัยของแพทย์ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยเดินทางมายังหน่วยบริการ และสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยหน่วยบริการได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้านในอัตรา 50 บาทต่อครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน – วันที่ 22 กรกฎาคม มี รพ.จำนวน 202 แห่ง จัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์แล้ว 121,119 ครั้ง เบิกค่าจัดส่ง 6,055,187 บาท ทั้งนี้ 3 อันดับแรกของผู้ป่วยที่จัดส่งยาทางไปรษณีย์ ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จำนวน 30,097 ครั้ง ผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 19,879 ครั้ง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 3,996 ครั้ง

4.โครงการรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน ขย.1 หรือโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัดใน รพ. และลดเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยบัตรทอง โดย สปสช.สนับสนุนค่าจัดบริการให้กับ รพ. ในอัตรา 33,000 บาท/ร้านยา และร้านยา 70 บาท/ใบสั่งยา ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีหน่วยบริการ 130 แห่ง และร้านยา 1,199 แห่งเข้าร่วม ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม สปสช.เบิกจ่ายค่าบริหารจัดการให้กับ รพ.จำนวน 122 แห่ง รวมเป็นเงิน 37,323,000 บาท และร้านยาที่ส่งบันทึกข้อมูลเบิกจ่าย 26,293 ใบสั่งยา เป็นจำนวนเงิน 1,840,510 บาท รวมเบิกจ่ายโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน 39,163,510 บาท

5.บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ นโยบาย สธ.เพื่อเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และลดความแออัดในห้องฉุกเฉิน โดยจัดบริการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วน และเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเวลาราชการเพิ่มเติม ช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยกองทุนบัตรทองดูแลค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 – วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 63,692 ราย เป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชยทั้งสิ้น 11,852,250 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง