รีเซต

อินเดีย : อะไรทำให้รัฐบาลประกาศจะยกเลิกกฎหมายปฏิรูปเกษตรกรรม 3 ฉบับ หลังการประท้วงนาน 1 ปี ของเกษตรกร

อินเดีย : อะไรทำให้รัฐบาลประกาศจะยกเลิกกฎหมายปฏิรูปเกษตรกรรม 3 ฉบับ หลังการประท้วงนาน 1 ปี ของเกษตรกร
ข่าวสด
20 พฤศจิกายน 2564 ( 09:57 )
50

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศจะยกเลิกกฎหมายปฏิรูปเกษตรกรรมอื้อฉาว 3 ฉบับ หลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากการประท้วงยืดเยื้อของเกษตรกรนาน 1 ปี

 

เกษตรกรอินเดียได้ปักหลักชุมนุมประท้วงกฎหมายนี้ที่เขตรอยต่อกรุงนิวเดลี มาตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว และมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนจากสภาพอากาศร้อนระอุ อากาศหนาวเย็น และจากโควิด-19

 

กลุ่มเกษตรกร ระบุว่า กฎหมายเหล่านี้ จะเปิดทางให้เอกชนเข้ามามีอำนาจกำหนดราคาพืชผล และจะส่งผลเสียต่อรายได้ของพวกเขา

การประกาศยกเลิกกฎหมายครั้งนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการยอมถอยครั้งใหญ่ของรัฐบาลอินเดีย ที่ก่อนหน้านี้แสดงท่าทีหนักแน่น และไม่ยอมเปิดการเจรจากับกลุ่มเกษตรกร

 

โดยบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลของนายโมดีต่างยืนกรานว่า กฎหมายนี้ส่งผลดีต่อเกษตรกร และไม่มีทางที่จะเพิกถอนกฎหมายเหล่านี้

 

ด้านสหภาพเกษตรกรมองข่าวครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเลือกตั้งระดับรัฐที่กำลังจะมาถึงในรัฐปัญจาบ และรัฐอุตตรประเทศ ที่ต่างมีเกษตรกรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจยกเลิกกฎหมายครั้งนี้

การประกาศของผู้นำอินเดียในวันนี้ (19 พ.ย.) ยังตรงกับเทศกาล คุรุ ปุรับ อันเป็นวันที่ชาวซิกข์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐปัญจาบ เฉลิมฉลองวันเกิดของคุรุนานักเทพ ผู้ก่อตั้งศาสนาซิกข์

ในการประกาศที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ นายโมดี ระบุว่า กฎหมายเกษตรกรรมมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย "ทว่าแม้จะมีความพยายามหลายครั้งในการอธิบายถึงประโยชน์ต่าง ๆ ต่อเกษตรกร แต่พวกเราก็ยังล้มเหลว เนื่องในโอกาสศเทศกาลคุรุ ปุรับ รัฐบาลได้ตัดสินใจยกเลิกกฎหมายเกษตรกรรมทั้ง 3 ฉบับ"

กฎหมายนี้มีเนื้อหาอย่างไร

Reuters
เกษตรกรชุมนุมประท้วงกันที่ทางมอเตอร์เวย์ ที่เชื่อมต่อกับกรุงนิวเดลีกับรัฐอื่น ๆ

กฎหมายทั้ง 3 ฉบับมุ่งผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่องการขาย การกำหนดราคา และการกักตุนผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเคยเป็นกฎเกณฑ์ที่ช่วยคุ้มครองเกษตรกรอินเดียจากตลาดเสรีมานานหลายสิบปี

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญของกฎหมายนี้คือ การที่เกษตรกรจะสามารถขายผลิตผลในราคาท้องตลาดให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนได้โดยตรง (เช่น ธุรกิจเกษตรกรรม เครือซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายของชำออนไลน์)

ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตส่วนใหญ่ให้ตลาดค้าส่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ซึ่งมีการรับประกันราคาขั้นต่ำให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้จะเปิดทางให้ผู้ซื้อเอกชนสามารถกักตุนสินค้าต่าง ๆ ได้ อาทิ ข้าว ข้าวสาลี และถั่ว เพื่อเก็บไว้ขายในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้มีเฉพาะนายหน้าที่ทางการให้การรับรองเท่านั้นที่สามารถทำได้

กฎหมายปฏิรูปนี้ จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายผลผลิตได้นอกเหนือจากตลาดค้าส่งที่รัฐบาลควบคุม แต่กลุ่มผู้ประท้วงระบุว่า กฎหมายนี้จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถกำหนดราคาสินค้า และควบคุมชะตากรรมของพวกเขาได้ โดยชี้ว่า การประกันราคาขั้นต่ำจะช่วยให้เกษตรกรหลายคนมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพต่อไป

เกษตรกรระบุว่า กฎหมายเข้มงวดของอินเดียเรื่องการขายสินค้าการเกษตรและการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่สูงได้ช่วยคุ้มครองเกษตรกรจากกลไกตลาดมานานหลายทศวรรษ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

แต่รัฐบาลอินเดียชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะทำให้เกษตรกรรมมีผลกำไรสำหรับเกษตรกรรายย่อย และกฎหมายใหม่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้

ปฏิกิริยาหลังการประกาศยกเลิกกฎหมาย

เกษตรกรในรัฐปัญจาบ และรัฐหรยาณา ต่างออกมาเฉลิมฉลองข่าวดีครั้งนี้ มีการชูธงแห่งชัยชนะ และแจกจ่ายขนมหวาน แต่ระบุว่า การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

"พวกเราไม่เชื่อในคำสัญญาลมปาก จนกว่าเราจะได้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากฎหมายนี้ได้ถูกยกเลิกแล้ว เราจะปักหลักชุมนุมอยู่ที่นี่ต่อไป" นายราช สิงห์ โชติฮารี ผู้ประท้วงวัย 99 ปี บอกกับบีบีซี

ผู้ประท้วงรายนี้เป็นหนึ่งในเกษตรกรหลายร้อยคนที่ปักหลักชุมนุมต่อต้านกฎหมายนี้อยู่ที่เขตรอยต่อกรุงนิวเดลีกับเมืองคาซีปุระ มานาน 1 ปี

ท่าทีของเขาสอดคล้องกับนายราเกซ ทิเกต แกนนำกลุ่มเกษตรกรชื่อดังที่ระบุว่า จะประกาศเลิกชุมนุมก็ต่อเมื่อกฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกในการประชุมรัฐสภาในฤดูหนาวนี้

ส่วนผู้นำเกษตรกรอีกคนระบุว่า พวกเขาจะต้องได้คำมั่นสัญญาเพิ่มเติมจากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องประกันราคาสินค้าเกษตรจึงจะยอมยุติการชุมนุมประท้วง

EPA

การประกาศยกเลิกกฎหมายครั้งนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่บรรดาผู้สังเกตการณ์การเมืองของอินเดียทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านกฎหมายนี้ หลายคนโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า นี่คือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของเกษตรกร และเป็นการยอมถอยครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรีโมดี

ด้านสมาชิกพรรคภารติยะ ชนะตะ หรือ บีเจพี (Bharatiya Janata Party) ของนายโมดี ระบุว่า ระบุว่า การตัดสินใจยกเลิกกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เพื่อยุติการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อของเกษตรกร

นายสุทิก พิศวาส ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำอินเดียระบุว่า การยกเลิกกฎหมายครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงกลยุทธ์และการเมือง โดยที่นายโมดีหวังว่า นี่จะช่วยกอบกู้ความศรัทธาจากเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวซิกข์ เพื่อเพิ่มโอกาสของพรรคบีเจพีในการชนะเลือกตั้งครั้งสำคัญช่วงต้นปีหน้าในรัฐปัญจาบ และรัฐอุตตรประเทศ ที่มีชาวซิกข์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

.............

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง