นักวิจัยค้นพบแผ่นดินไหวช้าที่สุดในโลก ไหวยาวนาน 32 ปี
ปกติแล้วแผ่นดินไหวครั้งหนึ่งก็อาจจะกินเวลาแค่ช่วงวินาที ถึงนาที หรือบางครั้งก็อาจจะสั่นสะเทือนไปเป็นเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนเลยทีเดียว โดยที่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นความถี่ที่ต่ำมาก ล่าสุดนักวิจัยในสิงคโปร์ได้ค้นพบแผ่นดินไหวในลักษณะดังกล่าว ซึ่งกินเวลายาวนานมากว่า 32 ปีแล้ว
แผ่นดินไหวนั้นเกิดจากแรงดันระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นที่ผลักกัน ซึ่งก็จะก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน แต่ในบางครั้งก็อาจจะมาในรูปแบบของการเลื่อนและผลักกันอย่างช้า ๆ ซึ่งทำให้จะตรวจจับได้ก็ต่อเมื่อใช้อุปกรณ์ที่มีความไวสูงเท่านั้น ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ‘slow slip events’ (SSE) หรือแผ่นดินไหวที่เคลื่อนช้า ซึ่งปกติแล้วแผ่นดินไหวประเภทนี้ก็มักจะใช้เวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น หรืออย่างนานที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ก็คือ 3 ปี ดังนั้นจึงเทียบไม่ได้เลยกับที่ทีมนักวิจัยจาก Nanyang Technological University ค้นพบ
โดยในตอนแรกทีมวิจัยกำลังสำรวจโครงสร้างปะการังที่เรียกว่า “microatolls” หรือ ไมโครทอลล์ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยโครงสร้างปะการังนี้จะค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีสำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และระดับความสูงของผืนดิน ซึ่งทีมค้นพบว่าระหว่างปีค.ศ. 1738-1829 นั้นไมโครทอลล์จมลงในอัตราที่คงที่คือประมาณ 1-2 มม. ต่อไป แต่ในช่วงปีค.ศ. 1829 กลับมีอัตราการจมเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน โดยจมลงที่ประมาณ 10 มม. ต่อปี ซึ่งยังคงดำเนินต่อเนื่องเช่นนี้ไปจนถึงประมาณปีค.ศ. 1861 แสดงให้เห็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกจากแผ่นดินไหวต่อเนื่องยาวนานถึง 32 ปีเลยทีเดียว
น่าเสียดายที่การสั่นสะเทือนนี้ก็มาถึงจุดสิ้นสุด เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตราในปี ค.ศ. 1861 ซึ่งครั้งนั้นสั่นสะเทือนแรงถึงระดับ 8.5 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตามนักวิจัยก็ได้แนวคิดที่น่าสนใจว่าหากเราตรวจสอบการสั่นสะเทือนที่ต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ได้อีก ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะพัฒนาไปเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้สำหรับการสั่นสะเทือนที่ขนาดใหญ่กว่านี้ก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก