หนุ่มพัทลุงไอเดียเริ่ด! เลี้ยงหอยโข่ง ขายผ่านโซเชียล กำหนดราคาเองได้ กวาดรายได้งาม
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หอยโข่ง เป็นหอยชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาแปรรูปประกอบเป็นอาหารรับประทานได้ ทั้งยังเป็นที่นิยมรับประทาน โดยเฉพาะนำมาแกงคั่วกะทิใบชะพลู
ในอดีตหอยโข่ง จะหาได้ง่ายตามแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ห้วย หนอง คลอง บึง โดยเฉพาะตามท้องทุ่งนาแต่ปัจจุบัน หอยโข่งเริ่มหายากเนื่องจากสภาพพื้นที่ปรับเปลี่ยนไป ห้วย หนอง คลอง บึงในหลายจุดถูกปรับ ถม แปรสภาพ โดยเฉพาะทุ่งนาข้าว ก็ปรับเป็นสวนยางสวนปาล์ม ที่สำคัญในหลายพื้นที่มีการใช้สารเคมี ทำให้หอยโข่ง หายากขึ้น
นายสุริยัญ เอียดเกลี้ยง อายุ 43 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จึงคิดใช้พื้นที่รอบบริเวณบ้านเลี้ยง หอยโข่ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับครอบครัว โดย เริ่มต้น จากการซื้อไข่หอยโข่ง มาเพาะที่บ่อเล็ก ๆ ข้างบ้าน จนหอยมีการขยายพันธ์มากขึ้น ลงโซเชียลเพื่อขาย ทำให้มีตลาดกว้างขึ้นลูกค้าสั่งซื้อต่อเนื่อง จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าว ที่อยู่ข้างบ้าน จำนวน 1 ไร่ เป็นบ่อเลี้ยงหอยโข่ง
โดยวิธีการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก แค่นำหอยโข่งไปใส่ไว้ในบ่อเลี้ยง ใส่จอกแหน และ ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่หาได้ง่าย ไว้เป็นอาหารของหอย แล้วก็ปล่อยตามธรรมชาติ ต้นจอกต้นแหน และต้นผักตบชวา เป็นพืชที่ขยายพันธ์ได้เร็วทำให้หอยมีอาหารกินตลอด หอยก็จะโตไปเองตามธรรมชาติหลังจากนั้น ตนก็จะคัดแยกหอย จากบ่อใหญ่ ขนาดที่ตลาดต้องการ มาสำรองไว้ที่บ่อพัก ขนาด กว้าง 2.5 เมตรยาว 2.5 เมตร ลึก ประมาณ 30 ซม. เพื่อสะดวกเวลาจับส่งขายขาย
ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาพอีสาน ส่วนใหญ่จะนิยมสั่งซื้อไปทั้งบริโภค และทำพันธ์ โดยหอยขนาด 8–10 ตัวต่อกก.(กิโลกรัม) ราคาจะอยู่ที่ 120 – 150 บาท ขนาด 11 – 15 ตัวต่อกก. ราคาอยู่ที่ 80 บาท ขนาด 10 ตัวต่อกก.ราคาอยู่ที่ 100 บาท และขนาด 6 ตัวต่อกก ราคาอยู่ที่ 150 บาท โดยวิธีการส่งจะแพ็คใส่กล่องกระดาษรองด้วยฟาง ซึ่งเมื่อจับขึ้นมาจากบ่อ หอยจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ประมาณ 4 วัน
“ช่วงเลี้ยงใหม่ ๆ ใคร ๆ ก็ว่าผมบ้า เป็นเรื่องไม่ปกติ ที่เลี้ยงหอยโข่ง ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงมาเมื่อต้นปี 2561 ถึงตอนนี้ ผมสามารถส่งขายหอยได้ทุกวัน วันละ ประมาณ 20 กก.เฉลี่ยที่ กก. 100 บาท มีรายได้เข้าครอบครัวตลอด การเลี้ยงหอยต้องการทำให้เป็นแบบอย่าง ลงมือทำ เบื้องต้นให้ชาวบ้านได้เห็นว่าหากเรามีพื้นที่ ว่าง สามารถเลี้ยงหอยเป็นอาชีพเสริมได้ ทั้งยังเป็นอาชีพที่สามารถกำหนดราคาเองได้ ที่เพราะที่ผ่านมา การประกอบอาชีพของชาวบ้านไม่ว่าจะปลูกข้าว ปลูกยาง ปลุกปาล์ม ราคาก็ถูกแถมยังมีพ่อค้าคนกลางกำหนดราคาทั้งหมด จึงคิดว่า หาอาชีพเสริมอะไรก็ได้ ที่สามารถกำหนดราคาเองได้ มีตลาดรองรับ”นายสุริยัญกล่าวและว่า อาชีพการเลี้ยงหอยโข่งจึงถือเป็นอีก หนึ่งทางเลือกที่สามารถสร้างอาชีพ และรายได้อย่างดีอีกทางหนึ่งในแบบที่ไม่ได้บ้า อย่างใครๆว่าสนใจศึกษาดูงานหรือสั่งซื้อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 8 3 6 5 6 7 3 5 6