รีเซต

สธ.การันตี ก.ย.ฉีดวัคซีนทะลุ 45 ล้านโดส แย้ม ต.ค.มาเพิ่ม 24 ล้านโดส ระดมฉีด 5 กลุ่ม เด็ก แรงงาน ราชทัณฑ์

สธ.การันตี ก.ย.ฉีดวัคซีนทะลุ 45 ล้านโดส แย้ม ต.ค.มาเพิ่ม 24 ล้านโดส ระดมฉีด 5 กลุ่ม เด็ก แรงงาน ราชทัณฑ์
มติชน
11 กันยายน 2564 ( 16:17 )
56
สธ.การันตี ก.ย.ฉีดวัคซีนทะลุ 45 ล้านโดส แย้ม ต.ค.มาเพิ่ม 24 ล้านโดส ระดมฉีด 5 กลุ่ม เด็ก แรงงาน ราชทัณฑ์

 

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 11 กันยายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 595,081 คน มียอดสะสมอยู่ที่ 224 ล้านคน สหรัฐยังมีการระบาดมากที่สุด ในรอบ 24 ชั่วโมง มีติดเชื้อใหม่ 171,125 คน รองลงมาเป็นอินเดีย 37,873 คน และสหราชอาณาจักร 37,622 คน จะเห็นว่าสถานการณ์ขึ้นๆ ลงๆ กลับไปกลับมา ในภาพรวมยังมีการระบาดที่รุนแรง ถึงแม้จะไม่รุนแรงเหมือนช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

 

ยังมีผู้เสียชีวิตรายวัน 9,080 คน ทำให้มียอดสะสมอยู่ที่ 4,630,843 คน สำหรับสถานการณ์ในทวีปเอเชียอันดับหนึ่งอินเดีย รองลงมาอินโดนีเซีย

 

  • ‘โควิดไทย’ เริ่มลดลง แต่ยังพบติดเชื้อเพิ่ม

สำหรับประเทศไทยมีรายงานติดเชื้อเพิ่ม 15,191 คน เสียชีวิต 253 คน จะพยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน แม้สถานการณ์ระบาดดูเหมือนจะลดลง ยังคงมีมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการป้องกันส่วนบุคคล การฉีดวีคซีน ตรวจคัดกรองตรววจ ATK และมาตรการในองค์กร

 

“ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มเปิดกิจกรรมต่างๆ ต้องมีมาตรการไม่ให้การระบาดกลับไปมากขึ้นเหมือนเดิม”

 

  • ฉีดวีคซีนแล้ว 39.6 ล้านโดส

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า การฉีดวีคซีนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฉีดเพิ่มขึ้น 758,503 โดส ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 39,631,862 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 26,954,546 ราย คิดเป็น 37.4% เข็มที่ 2 จำนวน 12,063,643 ราย คิดเป็น 16.7% เข็มที่ 3 จำนวน 613,673 ราย

ระยะต่อไปจะมีวัคซีนมากขึ้น การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน บางคนฉีดแล้วอาจจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาก ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละบุคคลที่มีการตอบสนองต่อวีคซีน จะไม่เหมือนกัน สิ่งที่คาดหวังเสมอคือประสิทธิภาพและความปลอดภัย

 

  • แจงยิบประสิทธิภาพของวัคซีน

“วัคซีนก็คือเชื้อโรคที่ทำให้ตายหรืออ่อนแรง เมื่อเข้าสู่ร่างกายคน อาจจะแพ้รุนแรงและอาการหนักได้ เมื่อให้วัคซีนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันบางคนขึ้นน้อย ขึ้นมาก ภูมิขึ้นมากอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติ อวัยวะบางอย่างของร่างกายผิดปกติ เช่น ระบบประสาท หัวใจ ความปลอดภัยเป็นสิงที่ต้องคำนึงเสมอเมื่อจะฉีดให้กับประชาชน”

 

นอกจากนี้วีคซีนต้องมีประสิทธิภาพการป้องกันติดเชื้อ การป่วย การตาย วิธีการวัดประสิทธิภาพคือฉีดแล้วทดสอบประสิทธิภาพจริง เปรียบเทียบคนที่ได้รับวัคซีนกับไม่ได้รับวัคซีน ใครติดเชื้อมากกว่ากัน

 

สำหรับวัคซีนแต่ละชนิดใช้ในประเทศไทย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค เช่น ซิโนแวคที่ใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี

 

  • การันตีสิ้น ก.ย.นี้ฉีดได้ 45 ล้านโดส

“แต่พอเชื้อกลายพันธุ์เป็นเดลต้าประสิทธิภาพเริ่มลดลง ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องมีการบริหารจัดการวัคซีน ที่ไทยใช้คือเปลี่ยนสูตรการฉีด เป็นฉีดซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ข้อดีคือภูมิคุ้มกันชึ้นพอๆ กับฉีดสูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม สู้กับเดลต้าได้ดีขึ้น และจะใช้เวลา 1 เดือนเศษๆ จากเดิม 3 เดือน จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วและมากขึ้น”

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะรีบดำเนินการให้ประชาชนได้รับการฉีดวีคซีน ครบ 2 เข็มให้เร็วขึ้น เพื่อลดการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต เพราะไม่มีวัคซีนชนิดใดจะมีประสิทธิผล 100% ในการป้องกันการติดเชื้อ แม้จะได้รับการฉีดแล้ว จะต้องมีฉีดเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดสในระยะต่อไป ที่สำคัญกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุมากว่า 60 ปี กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ต้องเร่งฉีดให้มากที่สุดเพราะมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากถึง 90%

 

“สิ้นกันยายนนี้จะฉีดวัคซีนได้ทั้งหมด 45 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนฉีดในไทย 4 ชนิด มากสุดแอสตร้าเซนเนก้า 15,419,603 โดส ซิโนแวค 15,292,644 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 4,330,836 โดส ไฟเซอร์ 869,811 โดส”

 

  • เปิดผลข้างเคียงวีคซีนแต่ละชนิด

สำหรับผลข้างเคียงมีรายงานทุกชนิด ส่วนใหญ่คล้ายกัน มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนหัว อาการไม่รุนแรงพัก 1-2 วันทานยาแก้ไข้จะดีขึ้น แต่ผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึ่งประสงค์ ของซิโนแวคอาการรุนแรงคือแพ้วัคซีนพบ 24 ราย คิดเป็น 0.1 ต่อแสนโดส ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า แพ้รุนแรง 6 ราย คิดเป็น 6.04 ต่อแสนโดส โดยทั้งหมดหายเป็นปกติ ด้านไฟเซอร์ 1 รายกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส และหายเป็นปกติ

 

“ที่เสียชีวิตหลังฉีดวีคซีน เราจะติดตามอาการ 1 เดือน หากเกิดผิดปกติเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนหรือเปล่า เรียกว่าอาการไม่พึ่งประสงค์จากวัคซีน ถ้าเป็นไปได้ต้องขอชันสูตรพลิกศพว่าเสียชีวิตจากอะไร แล้วเอาผลให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่”

 

  • พบเสียชีวิตจากวัคซีนมีแค่ 1 ราย

ทั้งนี้จากการได้รับรายงานเสียชีวิตหลังฉีด 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาแล้ว 416 ราย ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 249 ราย เช่น ติดเชื้อ เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน มะเร็ง ปอดอักเสบ อีก 32 รายยังไม่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ที่สรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนมี 1 ราย เกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ

 

“สรุปมีรายเดียวที่เสียชีวิตซึ่งเกี่ยวข้องกับวัคซีน ยังถือว่าวัคซีนปลอดภัย มีประโยชน์มากกว่าผลเสีย ให้ฉีดต่อไปในระดับประเทศ”

 

  • เผยภาวะลิ่มเลือด-เกล็ดเลือดต่ำเป็นกลุ่มโรคใหม่

สำหรับอาการลิ่มเลือดร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ เป็นกลุ่มโรคใหม่ที่นิยามขึ้นมา เรียกว่า VITT หรือ Vaccine-induced Immune เกิดได้จากการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า พบมากในต่างประเทศ 0.7 ต่อแสนคน ในไทยพบไม่กี่ราย 0.03 ต่อแสนคน น้อยกว่าต่างประเทศกว่า 10 เท่า โดยพบ 5 ราย

 

แนะนำว่าภาวะนี้เกิดได้ เกิดน้อยมาก รักษาหายได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว หลังฉีดถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะมาก แขนขาอ่อนแรง ให้พบแพทย์จะได้วินิจฉัยต่อไป ต้องเร่งรัดคือให้บุคลากรการแพทย์ให้ทราบภาวะ VITT ให้วินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว เพิ่มพัฒนาการตรวจและบริการ

 

ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงโควิดด้วย จะเกิดใน 10 รายต่อแสนราย ในไทยพบไม่มากประมาณ 2 คนต่อประชากรแสนคน จะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หัวใจวายได้ จะพบในวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา วีคซีนอื่นๆ พบได้แต่ไม่บ่อย สำหรับไทยจากฉีด 8 แสนโดส มี 1 ราย แต่ไม่รุนแรง

 

  • ต.ค.นี้ฉีดวีคซีน 24 ล้านโดสใน 5 กลุ่ม

นพ.โอภาสกล่าวถึงแผนการจัดหาและฉีดวัคซีนในตุลาคมนี้ จะมีของซิโนแวคเข้ามา 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส รวมเป็น 24 ล้านโดส ยังมีของซิโนฟาร์มจะนำเข้ามาอีก 6 ล้านโดส จะเห็นว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมจะมีวัคซีนเข้ามาก จะเร่งฉีดต่อไป

 

สำหรับแผนการฉีด เป้าหมายคือฉีดให้ประชาชนทุกจังหวัดอย่างน้อย 50% อย่างน้อย 1 อำเภอให้ครอบคลุม 70% มีโควิด ฟรี แอเรีย อย่างน้อย 1 พื้นที่ ยังคงฉีดกลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ให้มากที่สุด

 

จะเร่งฉีดเข็ม 2 ให้มากสุด และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็ก 12 ปีขึ้นไป เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน และคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะเริ่มฉีดเข็มกระตุ้นก่อน จากนั้นจะขยายในกลุ่มถัดไป เพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ควบคุมการระบาด

 

“โดยสรุปการจัดสรรวัคซีน 24 ล้านโดสในเดือนตุลาคมนี้ จะฉีดให้ 5 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป 16.8 ล้านโดส นักเรียนอายุ 12-17 ปี 4.8 ล้านโดส แรงงานในระบบประกันสังคม 0.8 ล้านโดส หน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรภาคครัฐ ราชทัณฑ์ 1.1 ล้านโดส และผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม อีก 0.5 ล้านโดส”

 

  • ฉีดซิโนแวค+แอสตร้าเป็นสูตรหลัก

แนวทางการให้บริการวัคซีน มีการฉีดสูตรไขว้ เราจะใช้คือ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า เป็นสูตรหลักฉีดให้ประชาชนทั่วไป ผลดีเท่ากับฉีดแอสตร้า 2 เข็ม และฉีดครบ 2 เข็มได้เร็วขึ้น

 

ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้น ด้วยการฉีดซิโนแวค 2 เข็มบวกด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เริ่มคนที่ฉีดเมื่อมีนาคม-พฤษภาคมก่อน เพราะภูมิจะลดลง ต้องเร่งเพิ่มภูมิคุ้มกัน มีเริ่มดำเนินการไปแล้วที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ส่วนผู้ติดเชื้อแล้ว 1-3 เดือนหลังจากหาย ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือยังไม่ครบ 2 เข็ม จะพิจารณาฉีดให้ในเดือนตุลาคมต่อไป สำหรับนักเรียน 12 ปีขึ้นไปจะฉีดไฟเซอร์ให้ จะฉีดชั้นไหนก่อนกระทรวงสาธารณสุขขจะร่วมบริหารจัดการกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

 

“เราต้องอยู่ร่วมโควิดค่อนข้างนาน เชื้อกลายพันธุ์ตลอด แม้ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่ม แต่ไทยเราการติดเชื้อเริ่มลดลง แต่มาตรการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งส่วนบุคคล รวมถึงมาตรการองค์กร โรงงาน ตลาด แคมป์คนงาน ต้องมีมาตรการป้องกันมากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง