การเมืองทำพิษ ! วงในบ่นอุบทำงานวิจัยลำบากหลังอังกฤษทำ Brexit
ปัจจุบันสหราชอาณาจักรนั้นได้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรืออียู (EU: European Union) ด้วยผลการลงประชามติที่เรียกว่าเบรซิต (Brexit) โดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ (No-Deal Brexit) ซึ่งทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน รวมถึงการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งแจ็คกี้ ไวส์ (Jacqui Wise) นักเขียนอิสระด้านการเมืองการแพทย์ (Medico-Political) ก็ได้รวบรวมข้อมูลและนำมาตีพิมพ์ลงใน เดอะ บีเอ็มเจ (The BMJ) วารสารทางการแพทย์ชื่อดังของอังกฤษถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา
ในบทความวิชาการนั้นได้เกริ่นนำด้วยปัญหาพื้นฐานอย่างการประชุมวิชาการด้านการแพทย์ที่จัดโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control: ECDC) ซึ่งมีเป็นประจำทุกปีนั้นก็ไม่เชิญอังกฤษเข้าร่วมอีกต่อไป อันเนื่องมาจากการทำ Brexit ซึ่งปัญหานี้เองทางฝั่ง EU ก็ต้องการช่วยเหลือ แต่มีเพียงการเมืองของอังกฤษเท่านั้นที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ เงินทุนและความลำบากในการติดต่อกับทางฝั่งยุโรปทำให้อังกฤษมีจำนวนการทดลองการรักษาในมนุษย์ลดลงไปถึงร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับข้อมูลในปี 2017
ปัญหาต่อมาที่สำคัญอีกประการเป็นเรื่องของเงินทุนในการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งกองทุนวิจัยฮอไรซอน ยุโรป (Horizon Europe Funding Programme) ที่เคยเป็นแหล่งทุนวิจัยหลักของแพทย์วิจัยในอังกฤษก็หายไปเช่นกัน โดยความเสียหายนั้นคือ งบประมาณเคยได้รับถึง 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 3.6 ล้านล้านบาท (มากกว่างบประมาณรัฐบาลไทย ปี 2566 ที่ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท) และยังไม่มีแนวโน้มที่จะเจรจาเพื่อหาทางออกได้ในเร็ววันนี้
แต่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับอังกฤษก็คือ ภาวะสมองไหล เพราะงบวิจัยที่หายไป รวมถึงปัญหาการเข้าถึงฐานข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์ใหม่ ๆ ทำให้แพทย์วิจัยจำนวนมากต่างโยกย้ายไปทำงานในสถาบันทางการแพทย์ในยุโรปแทน เพื่อคงสถานะงานวิจัย เงินทุน และฐานข้อมูลที่สำคัญต่อไป
โรบิน ไกรมส์ (Robin Grimes) เลขานุการต่างประเทศของราชสมาคมลอนดอน (Royal Society) ซึ่งเป็นสมาคมที่รวบรวมหัวกะทิของประเทศเอาไว้กล่าวว่า “เรารอมา 2 ปี แต่ยิ่งรอ ความเชื่อมั่นต่อวงการวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักรก็ยิ่งถดถอย และเสียความสามารถในการแข่งขันเพื่อยังคงเป็นแนวหน้าในด้านวิจัยและนวัตกรรมไปเรื่อย ๆ ด้วย”
ที่มาข้อมูล The BMJ
ที่มารูปภาพ Unsplash