รีเซต

เมาขับ จับคุมประพฤติ ยอดพุ่ง 3 วัน 'นนท์-ปากน้ำ-กทม.' แชมป์

เมาขับ จับคุมประพฤติ ยอดพุ่ง 3 วัน 'นนท์-ปากน้ำ-กทม.' แชมป์
มติชน
2 มกราคม 2566 ( 07:48 )
123

เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (ศปถ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่า ศปถ.โดยปภ.และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2565 วันที่สามของการรณรงค์ ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุŽ เกิดอุบัติเหตุ 466 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 467 คน ผู้เสียชีวิต 59 ราย สาเหตุเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.70 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.04 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.56 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.90 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.2 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.55

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 7.74 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 19.39 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,878 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,205 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 424,745 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 67,203 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 18,964 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 18,116 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 8,497 ราย

นายโชตินรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (19 ครั้ง) จังหวัดมีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (20 คน) จังหวัดมีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (7 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29-31 ธ.ค.65) เกิดอุบัติเหตุ รวม 1,183 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,182 คน ผู้เสียชีวิต รวม 146 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 18 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (42 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (46 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (10 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 18 จังหวัด

อย่างไรก็ตามวันที่ 1 มกราคม ยังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ประชาชนยังคงเดินทางท่องเที่ยวและทำบุญตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงยังมีการจัดงานเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงในพื้นที่ ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายกวดขันผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย สำหรับการดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านชุมชนเข้มข้นการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ รวมถึงเข้มข้นการดูแลเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและอำเภอ ซึ่งประชาชนใช้เป็นทางลัดออกสู่ถนนสายหลักเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีคดีทั้งสิ้น 40 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 40 คดี เนื่องจากศาลส่วนใหญ่ปิดทำการ ทำให้ยอดสะสมสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ 3 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,842 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,687 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.58 คดีขับเสพ 144 คดี คิดเป็นร้อยละ 7.86 คดีขับรถประมาท 11 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.6

อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ นนทบุรี 120 คดี สมุทรปราการ 105 คดี และกรุงเทพมหานคร 93 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่งานคุมประพฤติในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (31 ธันวาคม) พบว่า คดีขับรถในขณะเมาสุรา ปี 2564 จำนวน 1,723 คดี และปี 2565 จำนวน 40 คดี ลดลง จำนวน 1,683 คดี คิดเป็นร้อยละ 97

ข่าวที่เกี่ยวข้อง