รีเซต

เด็กติดโควิดพุ่ง 20% สธ.แนะจัดพื้นที่ให้ นร.เสี่ยงสูง 1จว. 1ศูนย์สอบทีแคส ไม่ต้องแยง ATK ทุกคน

เด็กติดโควิดพุ่ง 20% สธ.แนะจัดพื้นที่ให้ นร.เสี่ยงสูง 1จว. 1ศูนย์สอบทีแคส ไม่ต้องแยง ATK ทุกคน
มติชน
2 มีนาคม 2565 ( 15:04 )
48
เด็กติดโควิดพุ่ง 20% สธ.แนะจัดพื้นที่ให้ นร.เสี่ยงสูง 1จว. 1ศูนย์สอบทีแคส ไม่ต้องแยง ATK ทุกคน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงชี้แจงมาตรการการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานที่สอบ ว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อสูงกว่า 20,000 ราย ต่อเนื่อง ที่สำคัญช่วงนี้ กลุ่มนักเรียนในห้วงระยะเวลาเดือนมีนาคม เป็นช่วงแห่งการสอบ ไม่ว่าจะสอบปลายภาค สอบเลื่อนชั้น รวมถึงการสอบเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่ต้องเคร่งครัดกับการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องดำเนินควบคู่กันไป ภายใต้การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

 

“จากข้อมูลการติดเชื้อรายสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะสังเกตได้ว่าแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนมกราคม เกือบ 35,000 ราย ถึงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ พบการติดเชื้อถึง 140,000 กว่าราย ซึ่งสอดคล้องกับการติดเชื้อในเด็กช่วงอายุ 0-18 ปี ที่มีการติดเชื้อรายสัปดาห์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สาเหตุของการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และมีประวัติเสี่ยงในที่ชุมชน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาสัดส่วนพบว่ากลุ่มวัย 0-18 ปี มีจำนวนการติดเชื้อสูงขึ้น โดยสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม พบว่า การติดเชื้อของวัย 0-18 ปี อยู่ที่ร้อยละ 12 และขึ้นมาอยู่ราวๆ ร้อยละ 20 และคงอยู่ยาวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวอาจจะสูงขึ้นอีกหากมีการละเลยการปฏิบัติตามมาตรการของ สธ. และถึงแม้ในวัยนี้จะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ 4 ราย ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ และมักมีโรคประจำตัว

 

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจ “อนามัย โพล” ที่ทำการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันโรค ในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 24 ปีลงมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า กลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษาที่อายุต่ำกว่า 24 ปีนั้น มีพฤติกรรมสวมหน้ากากมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่าชื่นชม แต่เมื่อมาดูในส่วนของการล้างมือ และการเว้นระยะห่างจะเห้นว่ามีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หากเดิมพฤติกรรมล้างมืออยู่ที่ร้อยละ 83 ลดลงเหลือร้อยละ 73.4 และเว้นระยะห่างอยู่ที่ร้อยละ 70.1 ลดลงเหลือร้อยละ 62.5 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มวัยเหล่านี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการล้างมือ และเว้นระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยง

 

“สำหรับการจัดสอบท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลัก VUCA โดยที่ผู้จัดสอบ ผู้สอบ และบุคลากรทางการศึกษา ควรได้รับวัคซีนตามที่ สธ.กำหนด และต้องปฏิบัติตามหลัก UP: Universal Prevention คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ และจะต้องจัดสถานศึกษา สถานที่จัดสอบนั้น ต้องดำเนินการมาตรการ COVID Free Setting ทั้งนี้ ผู้สอบ ผู้จัดสอบ และบุคลากรทางการศึกษาควร/ต้อง ประเมินความเสี่ยงตนเอง ไม่ว่าจะผ่านแอพพลิเคชั่น “ไทยเซฟไทย” และเมื่อมีอาการ/ความเสี่ยงสูง ควรตรวจเอทีเค” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

 

ทางด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการยกระดับความปลอดภัยในสนามสอบ ทั้งการสอบทั่วไป และการสอบของนักเรียนที่เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง หรือติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ว่า แม้ว่าการติดเชื้อในเด็กจะเพิ่มสูงขึ้น แต่เรื่องของอัตราความรุนแรง หรือเสียชีวิตยังอยู่ในอัตราที่ต่ จึงทำให้นักเรียนยังสามารถที่จะมาสอบได้ โดยจะมีการบริหารจัดการ เป็นความร่วมมือของ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ สธ. รวมถึงเครื่อข่ายที่เกี่ยวข้อง ที่จะร่วมกันจัดการสอบอย่างปลอดภัย และให้เป็นไปตามาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการการจัดสอบ ในเรื่องของการตรวจเอทีเค หรือการตรวจคัดกรอง ในที่ประชุมไม่แนะนำให้ตรวจทุกคน ให้ตรวจเฉพาะเมื่อมีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

 

 

“อีกทั้งยังกำหนดให้แต่ละจังหวัดเปิดศูนย์สอบตามความเหมาะสมอย่างน้อย 1 แห่ง อาจพิจารณาใช้พื้นที่แยกกักชุมชน (CI) หรือ ฮอสปิเทล (Hospitel) เพื่อการจัดที่พัก สำหรับการจัดระบบบริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการแยกของใช้ และไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน รวมถึงจัดบริการรถรับ – ส่ง แก่ผู้ติดเชื้อโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” นพ.สราวุฒิ กล่าว

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า สำหรับสถานที่สอบ ให้ประสานกับหน่วยบริการ สธ.ตามระบบอนามัยโรงเรียน จัดพื้นที่แยกของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ติดเชื้อเป็นสัดส่วน เน้นให้มีการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร จัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในการป้องกันโควิด-19 เช่น การจัดการขยะติดเชื้อ และทำความสะอาดผิวสัมผัส ส่วนผู้คุมสอบ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันการติดเชื้อ โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง รวมถึงใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด วางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม

 

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า สำหรับผู้เข้าสอบ ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ให้ตรวจสอบสถานที่สอบที่กำหนด และลงทะเบียนกับสถานที่สอบเมื่อทราบว่าติดเชื้อ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่าง และการเดินทางไปสนามสอบนั้น ควรใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือประสานสถานที่สอบ หน่วยบริการ สธ. กรณีไม่มีรถส่วนตัว

 

 

“ก่อนการสอบ เน้นย้ำการยกการ์ดสูงสุด ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อทั้งตัวผู้สอบเอง รวมถึงผู้ปกครองด้วย และการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตทางการศึกษาของนักเรียน ที่สำคัญขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกัน เพื่ออนาคตของเด็กไทยให้สามารถสอบได้ในช่วงเวลานี้” นพ.สราวุฒิ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับเด็กที่อยากเข้าสอบ จะต้องตรวจเอทีเคทุกคนหรือไม่ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า เด็กที่จะเข้ามาสอบ มาตรการของเราไม่ได้ให้ตรวจทุกราย แต่การตรวจให้ตรวจเมื่อมีอาการที่เข้าข่ายว่าจะติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงสูง ตามมาตรการของ สธ.

 

“อยากจะเรียนพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ปกครอง ตลอดจนนักศึกษาทั้งหลายว่า การจัดสอบแม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ก็ยังสามารถดำเนินการจัดสอบได้ เพียงแต่ว่า ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งมาตรการนี้ก็ผ่านการพิจารณาจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นที่เรียบร้อย โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือของนักเรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา หน่วยงาน สธ. หน่วยงานพื้นที่ทุกภาคส่วน และชุมชน เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อคุ้มครองนักเรียนให้ไม่ขาดโอกาส และไม่เสียสิทธิ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง