“เขาใหญ่ดีจัง” สานพลังเครือข่าย 4 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้
“เขาใหญ่” เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุมมากถึง 4 จังหวัดคือสระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก นับเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ทรงคุณค่า โดยมีต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ในหลายมิติสำหรับคนทุกช่วงวัย
ด้วยศักยภาพดังกล่าวทาง “เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีพื้นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดรอบเขาใหญ่ ประกอบไปด้วย กลุ่มไม้ขีดไฟ, กลุ่มรักษ์เขาใหญ่, กลุ่มใบไม้, กลุ่มต้นกล้า และ กลุ่มลูกมะปราง โดยมี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน จึงได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม “เขาใหญ่วิทยา” ขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นฤดูร้อน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของเครือข่ายผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างความรู้คู่ความตระหนักให้เกิดความรักและหวงแหนในธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการขยายเครือข่ายการรับรู้ และความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่ 4 จังหวัดรอบๆ เขาใหญ่ออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“พวกเราต้องการทำให้เขาใหญ่เป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมเรียนรู้แบบ learning by doing โดยมีจุดมุ่งหมายคือสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และใช้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือการพัฒนาเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละเครือข่าย ที่ผ่านมาในสังคมเราขาดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก เราที่เป็นผู้ใหญ่จึงต้องหาพื้นที่ให้เด็กๆ เพื่อฝึกให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และเอาตัวรอดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัว ฝึกให้เด็กคิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็น เขาใหญ่วิทยาจึงมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป” “พี่กุ๋ย” ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน จาก “กลุ่มไม้ขีดไฟ” ผู้ขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัว ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในแกนนำในการจัดกิจกรรมเขาใหญ่วิทยาอธิบาย
ก่อนจะมาเป็นเขาใหญ่วิทยา กลุ่มไม้ขีดไฟ กลุ่มต้นกล้า กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ และกลุ่มใบไม้ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เขาใหญ่ดีจังคราฟท์” ที่สร้างการเรียนรู้และจิตสำนึกผ่านการทำงานงานฝีมือ เพื่อเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างแรงบันดาลใจไปสู่พื้นที่จริง โดยเริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆ ใน พ.ศ. 2550 คือ การไม่ทิ้งขยะในอุทยานแห่งชาติ การรณรงค์ไม่ให้อาหารลิง การแต่งกาย Mascot (มาสคอต) และวาดรูปสัตว์บนพื้นถนนเพื่อรณรงค์ไม่ให้ขับรถเร็วในพื้นที่ของอุทยานฯ ต่อมาได้ขยายความร่วมมือในการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชนอีกหลายกลุ่มที่มีพื้นที่ทำงานรอบเขาใหญ่ จนเกิดเป็นกิจกรรมการ “รณรงค์สี่มอขอไม่มาก” (ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว และไม่ส่งเสียงดัง) จนเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังเป็นที่รู้จัก ได้รับความสนใจและร่วมมือจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
หลังว่างเว้นการจัดกิจกรรมไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้ “เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง” จึงได้กลับมารวมตัวกันจัดงาน “เขาใหญ่วิทยา” อีกครั้ง โดยกลุ่มต้นกล้าชักชวนเด็กๆ มาร่วมทำงานคราฟท์ด้วยการทำ “หน้ากากเสือ” ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับหน้ากากเสือที่ตนทำเอง พร้อมกับชักชวนเด็กและผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรม “ห้องเรียนสื่อความหมายธรรมชาติ” ที่เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติจากการเดินป่าจริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวและการเรียนรู้ระหว่างเส้นทางเดินป่าไปยังน้ำตกกองแก้ว หรือหอดูสัตว์หนองผักชีนั้นจะสามารถดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ ได้นานนับชั่วโมง
“เก่ง” โชคนิธิ คงชุ่ม แกนนำ “กลุ่มใบไม้” จาก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยนำต้นทุนทางธรรมชาติในพื้นที่เขาใหญ่ มาเป็นเครื่องมือในการเปิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์กล่าวว่า เขาใหญ่วิทยาเป็นกิจกรรมที่ทางเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังต้องการรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้ที่มากไปกว่ามาแค่การได้มาเที่ยวบนเขาใหญ่เฉยๆ
“เครือข่ายเขาใหญ่ดีจังเข้ามาช่วยออกแบบเส้นทางเดินป่าและพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้เด็กและครอบครัวสามารถเกิดการเรียนรู้ในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มาก่อน มีการจัดทำแผนที่ทางเดินสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ กำหนดบทบาทและกิจกรรมในแต่ละจุดที่แตกต่างกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการตั้งคำถาม และมาหาคำตอบอีกครั้งที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว กิจกรรมนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดียิ่งขึ้น และยังใช้เส้นทางเหล่านี้ในการฝึกอาสาสมัครจากเครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง ทำให้ได้คนรุ่นใหม่ๆ มาทำงานในพื้นที่ต่อเนื่อง” เก่งกล่าว
และในปีนี้ห้องเรียนกลางแจ้งของเขาใหญ่วิทยา ยังเกิดเครือข่ายใหม่ๆ เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการเปิดพื้นที่เรียนรู้ในมิติใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ “กลุ่มเส้นตอก” จาก ตำบลดงบัง อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นชุมชนปลูกไผ่และประสบความสำเร็จจากวิสาหกิจชุมชนจึงขยายผลมาทำศูนย์เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยใช้ไม้ไผ่ สบู่ถ่านไม้ไผ่ และพวงกุญแจไม้ไผ่ เป็นเครื่องมือดึงดูดความสนใจให้ออกไปสัมผัสเยี่ยมชมของจริงในพื้นที่
“จากฐานเดิมที่ทำวิสาหกิจชุมชน การมาร่วมงานเขาใหญ่วิทยาในครั้งนี้เราได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ปกครองเด็กและเยาวชนทางด้านกิจกรรมต่างๆ ที่อยากให้มีในศูนย์เรียนรู้ ทำให้เราเห็นทิศทางในการจัดศูนย์เรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนมากขึ้น” “แม่อุ๊” อุมาพร พิมพ์ทอง ที่มาพร้อมกับผู้ช่วยซึ่งเป็นลูกสาว “น้องข้าวฟ่าง” เล่าถึงประโยชน์ในการมาร่วมเป็นเครือข่ายในครั้งนี้
“การมาร่วมงานครั้งนี้ทำให้เรารู้จักเครือข่ายมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานและการร่วมมือในการทำกิจกรรมมากขึ้น” “ลูกตาล” พรชนก ค่ายสงคราม ทีมงานกลุ่มเส้นตอกกล่าวเสริม
รวมไปถึงอีกหนึ่งเครือข่ายใหม่ที่ใช้เสียงโป๊กๆ จากการใช้ค้อนตอกลงไปบนถุงผ้าที่ใส่ใบไม้หลากสีหลายแบบเข้าไปเรียกร้องความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้เข้ามาร่วมกิจกรรม และเมื่อเดินมาใกล้ก็จะเห็นว่าใบไม้ที่โดนค้อนตอกนั้นเกิดเป็นสีสันและรูปร่างขึ้นมาบนถุงผ้า นี่คือกิจกรรมที่เรียกว่า “Eco Print” ของ “กลุ่มปั้นดิน” จาก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่ทำงานขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกระบวนการคิดให้แก่เด็กในชุมชนแออัด โดยใช้กิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติที่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กในชุมชนแออัดไปในทางบวก
“เมื่อเด็กๆ ได้มาทำอีโค่ปรินท์ ทำให้เขาตั้งใจ เป็น Self-control ที่จะต้องมีความตั้งใจในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ และการใช้ค้อนค่อยๆ ตอกลงไปบนผ้ายังเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้ช่วยเด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น” “ใบพลู” ดุสิตา งามเฉลียว นักศึกษาทางด้านจิตวิทยา ที่ได้สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมอีโค่ปรินท์นอกจากจะช่วยสร้างจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมพร้อมกับได้กระเป๋าผ้าสวยๆ ไปใช้เพื่อช่วยลดขยะ แล้ว กิจกรรมนี้ยังมีประโยชน์ทางด้านพัฒนาบุคคล ด้านจิตสำนึกและการใช้ชีวิตร่วมกัน
ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความร่วมมือที่นำโดยพี่ใหญ่ของเครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง “ลุงปู” ฤทธิ์ บินอับดุลเลาะห์ นักสื่อความหมายธรรมชาติของ “กลุ่มต้นกล้า” ที่นำทีมพาเด็กจากชุมชนแออัดของกลุ่มปั้นดินไปดูนกและศึกษาธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือทางด้านจิตวิทยาของกลุ่มปั้นดินกับการใช้ธรรมชาติกล่อมเกลาจิตใจ ส่งผลให้เด็กจากชุมชนลดความก้าวร้าวลงได้อย่างชัดเจน
“หลังจากได้ทำกิจกรรมร่วมกันสังเกตเห็นได้ว่าพวกเขามีความเปลี่ยนแปลงคือ มีบุคลิกภาพในทางที่ดีขึ้น ลดความรุนแรงก้าวร้าวลงได้อย่างชัดเจน นั่นคือความน่าพอใจอย่างยิ่งที่เครือข่ายของเราทำให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้ ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด และเชื่อมั่นว่าเขาจะมีพฤติกรรมต่างๆ ที่ดีขึ้นแม้จะต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดิม” ลุงปูอธิบายถึงความสำเร็จในการทำงานร่วมกันของเครือข่าย
ซึ่งความสำเร็จของการจัดกิจกรรม “เขาใหญ่วิทยา” ของ “เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง” นั้นอาจไม่ได้หมายถึงเพียงจำนวนผู้เข้าร่วมหรือความหลากหลายของกิจกรรม แต่ที่มากกว่านั้นก็คือพลังและความร่วมมือของเครือข่ายที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสร้างพื้นที่เรียนรู้ในมิติต่างๆ กันไปตามความถนัดและศักยภาพของตนเองให้กับชุมชนและพื้นที่โดยรอบ เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกันของแต่ละเครือข่าย
“จากการทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เรามีเครือข่ายเพิ่มขึ้น และมีการทำงานที่หลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น มีการประสานงานระหว่างเครือข่ายเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกัน รวมไปถึงมีการแลกเปลี่ยนพื้นที่เรียนรู้ของแต่ละเครือข่ายในการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังทุกคนล้วนมีเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้มากขึ้น และทำให้คนทั่วไปรู้จักและมาใช้พื้นที่เรียนรู้ของกลุ่มต่างๆ มากขึ้น” “เก่ง” โชคนิธิ คงชุ่ม กล่าวสรุป.