รีเซต

แค่ดวงจันทร์คงไม่พอ ! อินเดียเตรียมส่งยานอวกาศศึกษาดวงอาทิตย์ลำแรก ก.ย.นี้

แค่ดวงจันทร์คงไม่พอ ! อินเดียเตรียมส่งยานอวกาศศึกษาดวงอาทิตย์ลำแรก ก.ย.นี้
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2566 ( 11:51 )
153

วงการสำรวจอวกาศอินเดียพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) เตรียมส่งยานอวกาศ Aditya-L1 ยานอวกาศลำแรกของอินเดียไปศึกษาดวงอาทิตย์ในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ จากบริเวณศูนย์อวกาศ Statish Dhawan บริเวณชายฝั่งศรีหริโคตา (Sriharikota) ตะวันออกของอินเดีย โดยใช้เทคโนโลยีจรวด GSLV Mark III ที่พัฒนาในประเทศอินเดีย


ชื่อของยานอวกาศอดิสยา-แอล 1 (Aditya-L1) ถูกตั้งตามชื่อของดวงอาทิตย์ในภาษาสันสกฤต ส่วนคำว่า L1 คาดว่ามาจากชื่อตำแหน่งวงโคจร L1 จุด Lagrangian Point ที่อยู่ข้างหน้าโลกตลอดเวลาจึงเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับยานอวกาศที่ต้องการสำรวจดวงอาทิตย์ จุดตำแหน่งของยานอวกาศอดิสยา-แอล 1 (Aditya-L1) คาดว่าอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร ตามแผนการที่นักวิทยาศาสตร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้คำนวณเอาไว้


การออกแบบของยานอวกาศอดิสยา-แอล 1 (Aditya-L1) มีลักษณะเป็นยานสำรวจติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ อุปกรณ์สำรวจดวงอาทิตย์ สเปกโทรกราฟ เครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กและเครื่องมือวัดอนุภาค น้ำหนักของยานอวกาศอยู่ที่ประมาณ 1,500 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 3 เมตร ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้า


เป้าหมายของการศึกษาดวงอาทิตย์ของอินเดียในครั้งนี้ อยู่ที่การสำรวจชั้นบรรยากาศชั้นนอกสุดหรือที่เรียกว่า โคโรนา ซึ่งคาดว่ามีอุณหภูมิสูงถึง 1 ล้านองศาเซลเซียส เพื่อหาคำตอบว่าอุณหภูมิความร้อนบริเวณดังกล่าวสูงมากกว่าพื้นผิวดาวอาทิตย์ได้อย่างไร แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะทราบมาระยะหนึ่งแล้วว่าดวงอาทิตย์ปล่อยลมสุริยะความร้อนสูงหรือมวลโคโรนา (CME) ออกมาสู่อวกาศและโลก แต่ยังคงมีปริศนาอีกหลายอย่างที่รอการค้นพบ สำหรับระยะเวลาในการทำภารกิจทั้งหมดประมาณ 5 ปี



ที่มาของข้อมูล Space 

ที่มาของรูปภาพ ISRO.GOV.IN

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง