LHKต้นทุนลด-ยอดขายเพิ่ม ตลาดอีวีหนุนฐานออเดอร์
LHK มองไตรมาส 2/66 (ก.ค.-ก.ย.66) ขยายตัวดี ยิ้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับมาอยู่ในฐานปกติใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หนุนต้นทุนวัตถุดิบผลิตลดลง-ลูกค้าทยอยส่งออเดอร์เข้ามามากขึ้น แย้มตลาด EV หนุนออเดอร์ในมือเพิ่ม แถมคำสั่งผลิตล่วงหน้าในมือยาวไปจนสิ้นปี เชื่อผลงานปีนี้ดีกว่าปีก่อน
นายวิทวัส อัครพงศ์พิศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โลหะกิจ เม็ททอล จำกัด (มหาชน) หรือ LHK เปิดเผย ภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 มีแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ในไตรมาส 2/2566 (ก.ค.-ก.ย.66) ได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 และคาดว่าจะทรงตัวในระดับเช่นนี้ไปอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้
*ยอดขายเติบโต
ทำให้ลูกค้าในช่วงก่อนหน้าที่มีการชะลอคำสั่งซื้อและหันมาเร่งระบายสินค้าคงค้างแทนในช่วงที่ราคา Commodity เริ่มหันกลับมาส่งคำสั่งซื้อกับบริษัทเพิ่มมากขึ้นและเริ่มกลับมามีการสั่งซื้อสินค้าเพื่อกักตุนเป็นสต๊อกเพิ่มมากขึ้นตามราคา Commodity ที่ลดลง ขณะเดียวกันบริษัทยังมีคำสั่งผลิต (Backorder) ล่วงหน้าจากกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์เข้ามาเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2566 และช่วงที่เหลือของปีนี้ของบริษัท
สะท้อนต่อแนวโน้มยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีการเติบโตในทิศทางการที่ดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ประกอบกับด้วยราคา Commodity ที่ลดลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลงไปด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเองก็ได้มีการระบายวัตถุดิบคงคลังที่ซื้อมาในราคาที่สูงไปหมดแล้ว ทำให้จากนี้คาดว่าอัตราการทำกำไรจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทเริ่มมีออเดอร์ในชิ้นส่วนประกอบของแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามากขึ้น เป็นชิ้นส่วนสังกะสีเคลือบระบบภายในของแท่นชาร์จ หรือเรียกว่า EG โดยเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งคาดว่าตลาดรถยนต์ EV จะเติบโตโดดเด่นในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า และจะมาหนุนรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคต
ในแง่ของยอดขายของบริษัทพึ่งพิง 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น โดยภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการปรับลดเป้าผลิตรถยนต์เหลือ 1.9 ล้านคัน จากเดิมที่ 1.95 ล้านคัน ซึ่งเป็นการปรับลดเฉพาะยอดผลิตเพื่อขายในประเทศจาก 9 แสนคัน เป็น 8.5 แสนคัน ที่เหลือ 1.05 ล้านคันเป็นยอดการส่งออก
*อุตสาหกรรมฟื้น
ยอดผลิตรถยนต์ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 1.49 แสนคัน เพิ่มขึ้น 4.72% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) อยู่ที่ 1.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 0.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ทั้งนี้ ทาง ส.อ.ท. ปรับลดยอดผลิตลงสาเหตุจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของทางสถาบันการเงิน การส่งออกสินค้าที่ลดลงต่อเนื่อง 8 เดือน ดอกเบี้ยขาขึ้นลูกค้าระมัดระวังการใช้จ่าย และรถไฟฟ้าที่ตีตลาดไทยกว่า 5%
แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลงมากแล้ว ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์ในประเทศไทยเริ่มคลายตัวลงหลังจากที่ได้ข้อสรุปการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และเชื่อว่าจากนี้ภาครัฐจะให้การสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อกำลังซื้อที่มีแนวโน้มฟื้นตัวและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2566 และต่อเนื่องในปี 2567
ด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างเองก็เช่นเดียวกัน จากการที่ประเทศไทยได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศต่อแล้ว เชื่อว่าแผนการดำเนินงานจากนี้จะยังคงเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากปีนี้ สะท้อนต่อการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของกลุ่มก่อสร้าง ทำให้มองว่าในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2566 จะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี และเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน