รีเซต

เปิดภาพแรก "หลุมดำ" กลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ตอกย้ำทฤษฎีสัมพัทธภาพไอน์สไตน์

เปิดภาพแรก "หลุมดำ" กลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ตอกย้ำทฤษฎีสัมพัทธภาพไอน์สไตน์
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2565 ( 20:30 )
63
เปิดภาพแรก "หลุมดำ" กลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ตอกย้ำทฤษฎีสัมพัทธภาพไอน์สไตน์

วันนี้ (12 พ.ค.65) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับ ภาพแรกของหลุมดำ ณ ใจกลางทางช้างเผือก โดยระบุว่า ทีมนักดาราศาสตร์ เปิดเผย “ภาพแรกของหลุมดำ ณ ใจกลางทางช้างเผือก” โดยใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Event Horizon Telescope (EHT) นับเป็นครั้งแรกที่สามารถบันทึกภาพหลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

เป็นหลักฐานสำคัญที่สุดที่ยืนยันว่ามีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่บริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับหลุมดำมวลยิ่งยวดมากขึ้น และผลลัพธ์ที่ได้ตรงกับที่ทำนายเอาไว้โดยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์

ภาพที่เราเห็นอยู่นี้ คือภาพแรกของหลุมดำ “Sagittarius A*” (แซจิแทเรียส เอ สตาร์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Sgr A* ซึ่งเป็นหลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

นักดาราศาสตร์ค้นพบแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุปริศนา จากบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ในตำแหน่งของกลุ่มดาวคนยิงธนูมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ  “Sagittarius A*” ต่อมาได้มีการค้นพบหลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้น ที่บ่งชี้ว่า ดาวฤกษ์และแก๊สร้อนที่โคจรรอบวัตถุนี้ มีความเร็วสูงมากจนวัตถุนี้จะต้องมีแรงโน้มถ่วงมหาศาล ที่อยู่ภายในปริมาตรที่น้อยมากๆ 

สอดคล้องกับคุณสมบัติของหลุมดำมวลยิ่งยวด ทำให้นักดาราศาสตร์ Reinhard Genzel และ Andrea M. Ghez ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 2020 ร่วมกับ Roger Penrose ในการค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของหลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริศนา ณ ใจกลางทางช้างเผือก Sgr A* ได้ที่ [13])

นอกจากหลักฐานทางอ้อมนั้น เราก็ยังไม่เคยมีหลักฐานโดยตรงถึงหลุมดำนี้มาก่อน และเราก็ไม่เคยเห็นภาพของวัตถุปริศนานี้มาก่อน จนกระทั่งวันนี้

ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

“หลุมดำ” เป็นวัตถุปริศนาที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมาก แม้กระทั่งแสงก็ไม่สามารถหนีออกมาจากแรงโน้มถ่วงของหลุมดำได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถสังเกตเห็นหลุมดำได้โดยตรง แต่เราก็สามารถสังเกตเห็นแก๊สร้อนที่สว่าง ในขณะที่พวกมันกำลังค่อยๆ ตกลงสู่หลุมดำได้ ปรากฏเป็น “วงแหวน” สว่างล้อมรอบ “เงา” สีดำ ซึ่งเป็นบริเวณอันมืดมิดที่รายล้อม “ขอบฟ้าเหตุการณ์” ของหลุมดำ ทำให้แสงไม่สามารถเดินทางออกมาได้

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสังเกตการณ์ Sgr A* เป็นไปได้ยากมาก เนื่องมาจากขนาดที่อัดแน่น และระยะห่างที่ไกลออกไปของหลุมดำนี้ แม้ว่า Sgr A* จะมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 4 ล้านเท่า แต่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เพียงแค่ 31 เท่า เทียบกันแล้วหลุมดำขนาดยักษ์นี้มีขนาดเล็กกว่าวงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์เท่านั้นเอง 

หากเปรียบเทียบกับระยะห่างที่อยู่ห่างออกไปถึง 27,000 ปีแสง ณ ใจกลางกาแล็กซีแล้ว การจะสังเกตการณ์หลุมดำนี้เปรียบได้กับการพยายามถ่ายภาพโดนัท ที่วางอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์ที่ห่างออกไปเกือบสี่แสนกิโลเมตร จำเป็นต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ และมีกำลังในการแยกภาพที่มากเกินกว่าที่กล้องโทรทรรศน์ใดๆ ในโลกเพียงกล้องเดียวจะสามารถทำได้

การบันทึกภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้ได้นั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์ที่เราเคยมีทั้งหมดในปัจจุบัน ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “อินเทอร์เฟอโรเมทรี” 

ที่ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่อยู่ทั่วทุกมุมโลกให้ทำงานร่วมกันประหนึ่งราวกับเป็นส่วนหนึ่งของจานรับสัญญาณวิทยุขนาดใหญ่ ที่ประกอบขึ้นเป็นกล้องโทรทรรศน์เสมือนที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับโลกทั้งใบ เพื่อสังเกตการณ์ในครั้งนี้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอินเทอร์เฟอโรเมทรีได้ที่ [12])

ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ความสำเร็จจากการบันทึกภาพของหลุมดำ ณ ใจกลางกาแล็กซี M87 หรือ M87* โดยทีมของ EHT ในปี ค.ศ. 2019 มีผลต่อความสำเร็จในการสังเกตการณ์หลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ครั้งนี้เป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกันแล้ว M87* มีมวลที่มากกว่า Sgr A* กว่าพันเท่า 

แม้ว่า Sgr A* จะมีระยะทางที่ใกล้กว่า และมีขนาดปรากฏเชิงมุมที่ใหญ่กว่า แต่ขนาดที่เล็กกว่านับพันเท่านั้นย่อมหมายความว่า แก๊สที่โคจรที่ขอบหลุมดำด้วยความเร็วเข้าใกล้แสงนั้นจะใช้เวลาน้อยมากในการโคจรรอบ Sgr A*

ในขณะที่แก๊สร้อนรอบ M87* จะใช้เวลานานนับสัปดาห์ในการโคจรรอบหลุมดำ ภาพที่ได้จาก M87* นั้นจึงเปรียบได้กับการถ่ายภาพนิ่งของวัตถุที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่แก๊สที่โคจรรอบ Sgr A* นั้นจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการโคจรไปรอบๆ ซึ่งนี่หมายความว่าความสว่างของวงแหวนที่วนรอบๆ หลุมดำ ณ ใจกลางกาแล็กซีของเรานั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาหลายชั่วโมงที่ EHT ทำการสังเกต 

เปรียบได้กับการพยายามบันทึกภาพนิ่งของลูกสุนัขที่กำลังวิ่งไล่กวดหางตัวเองอยู่ นับเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งของโครงการนี้ ภาพที่เราเห็นอยู่ของ Sgr A* นั้นเปรียบได้กับภาพเฉลี่ยที่ได้จากเฟรมต่างๆ ที่สามารถเก็บมาได้ เพื่อแสดงถึงภาพของหลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางกาแล็กซีของเราที่หลบซ่อนจากการสังเกตการณ์มาตลอด

สุดท้าย ภาพที่เราเห็นอยู่นี้ จึงได้มาจากความพยายามพัฒนาเทคโนโลยี สร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ มากว่า 5 ปี ด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ผ่านความร่วมมือของนักวิจัยกว่า 300 ชีวิต จาก 80 สถาบันสถาบันทั่วโลก ในฐานะของหนึ่งในผู้ดำเนินการของเครือข่าย East Asian Observatory (EAO) ที่บริหารกล้องโทรทรรศน์ JCMT ที่ใช้ในการสังเกตการณ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบอันเป็นประวัติศาสตร์นี้

ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดเผยภาพแรกของวัตถุปริศนาที่อยู่ ณ ใจกลางของกาแล็กซีที่เราอาศัยอยู่ แต่การบันทึกภาพของหลุมดำมวลยิ่งยวดหลุมที่สองในประวัติศาสตร์ที่มีมวลแตกต่างจาก M87* เป็นอย่างมาก ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง และทฤษฎีสัมพัทธภาพที่เป็นกลไกสำคัญ คอยขับเคลื่อนไม่เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลุมดำ

แต่ยังรวมไปถึงกฎของแรงโน้มถ่วงที่เป็นส่วนหนึ่งของเอกภพที่เราอาศัยอยู่ด้วย ภาพถ่ายของหลุมดำทั้งสองนี้จึงเปรียบได้กับห้องปฏิบัติการอันมหึมา ที่มีแรงโน้มถ่วงจากวัตถุอันมหาศาลกำลังบิดงอกาลอวกาศไปรอบๆ จนทำให้แม้กระทั่งแสงที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดในเอกภพ ก็ยังต้องโค้งงอไปตามอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะจำลองสภาวะเหล่านี้ในห้องทดลองบนโลกของเรา

นอกจากนี้ การเปรียบเทียบการถ่ายเทมวลจากดาวฤกษ์รอบข้างสู่หลุมดำ เป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อตัวและวิวัฒนาการของกาแล็กซี ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยังไม่มีความเข้าใจที่สมบูรณ์เท่าใดนัก 

ข้อมูลล่าสุดจากทั้งหลุมดำ Sgr A* และ M87* ที่มีมวลที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นห้องทดลองทฤษฎีสัมพัทธภาพให้กับเราแล้ว ยังช่วยเติมเต็มแบบจำลองของการถ่ายเทมวลสู่หลุมดำให้แก่เราได้อีกด้วย ผลงานวิจัยทั้งหมดนี้ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ออกมาพร้อมกันกับการแถลงข่าวในครั้งนี้ [2]-[11]



นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น EHT ยังมีโครงการการสังเกตการณ์ครั้งใหญ่ที่รวมกล้องโทรทรรศน์เพิ่มมากขึ้นอีกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะขยายเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ และพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต ที่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาหลุมดำมวลยิ่งยวดที่เพิ่มมากขึ้นไปอีก ด้วยรายละเอียดที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงบันทึกภาพต่อเนื่อง หรือ “วิดีโอ” ของมวลสารที่กำลังวนไปรอบๆ และตกลงสู่หลุมดำในอนาคต

และด้วยความสามารถในการผนวกกล้องโทรทรรศน์เข้าด้วยกันผ่านเทคนิคอินเทอร์เฟอโรเมทรีที่พัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เราคงต้องติดตามดูว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติขนาด 40 เมตรของไทยที่กำลังจะเปิดประจำการในปีนี้ จะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ และช่วยเปิดเผยความลับใดของเอกภพให้เราได้รู้กันอีกในอนาคตอันใกล้ที่จะถึงนี้

ภาพ: ภาพแรกของหลุมดำมวลยิ่งยวด Sgr A* ณ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ภาพนี้ได้มาจากการเชื่อมต่อข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุกว่า 8 แห่งทั่วโลกภายใต้เครือข่ายของ EHT เข้าด้วยกันเพื่อประกอบกันเป็นกล้องเสมือนที่มีขนาดเท่าโลกของเรา เปิดเผยให้เห็นถึงโครงสร้างของแก๊สร้อนที่โคจรด้วยความเร็วเกือบเท่าแสง วนรอบหลุมดำที่ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงมหาศาลมากเสียจนแม้กระทั่งแสงก็ไม่สามารถหลุดรอดออกมาได้อีก ปรากฏเป็นโครงสร้างวงแหวนสว่างล้อมรอบ “เงา” มืดของหลุมดำ ภาพโดย EHT Collaboration

ข้อมูลและเรียบเรียง: ดร. มติพล  ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. 

ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง