‘ยุกติ’ เปิด 10 เหตุผล ทำไมเศรษฐกิจไทยโตไม่เท่าเวียดนาม
สืบเนื่องกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคำถามว่า ทำไมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ถึงไม่เท่ากับเวียนนาม ทั้งๆที่มีทรัพยากรเหนือกว่า
เมื่อวันที่ 21 มกราคม รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม เปิดเผยถึง 10 เหตุผล ดังนี้
1. เวียดนามเพิ่งเปิดประเทศในทศวรรษ 1990 จากที่เคยต่ำกว่า 0 ถึงติดลบ การลงทุนเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานก็ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจก้าวกระโดดมากแล้ว ขณะนี้แม้ยังไม่เท่าไทย ก็ย่อมทะยานขึ้นได้อีก
2.เงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ที่ฉวยโอกาสทั้งจากตลาดภายในใหม่ๆ และทรัพยากรบุคคลราคาถูกแต่กำลังพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ
3.ค่าแรงถูกกดให้ต่ำ มีการขูดรีดแรงงานสูง ค่าครองชีพระดับยังชีพยังต่ำกว่าไทยมาก
4.เป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จในทางการเมือง เปิดแต่เฉพาะทางเศรษฐกิจ จึงมีเสถียรภาพมาก เส้นสายชัดเจน
5. ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ต้องระวัดระวังสูง รัฐปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องสิทธิอย่างรุนแรง
6.การลงทุนขนาดใหญ่มักเป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนต่างชาติกับรัฐ รัฐจึงปกป้องผลประโยชน์นักลงทุนมาก
7.การลงทุนร่วมกับรัฐทำให้รัฐอุดหนุนการขูดรีดทรัพยากรทั้งธรรมชาติและประชาชนสูงมาก รวมทั้งการควบรวมที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและกดราคาที่ดินเพื่อการลงทุน
8.เวียดนามมีเมืองใหญ่มากกว่าหนึ่งแห่ง และยังสร้างเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยในภาคเหนือมี ฮานอย ห่ายฟ่องม์ ภาคกลางมี วิงญ์ (จ. แท็งญ์หวา) ดานัง ภาคใต้มี HCM city เกิ่นเทอ
9.เวียดนามกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นและชนกลุ่มน้อย พร้อมกับคุมอำนาจท้องถิ่นและชนกลุ่มน้อย (ผ่านทั้งกลไกพรรคคอมมิวนิสต์และการบริหาร) ได้อย่างมั่นคง
10.เงินส่งกลับจากแรงงานต่างประเทศน่าจะไม่น้อย ทั้งการไปทำงานอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
“ถ้าเทียบกันแบบตรงๆ ก็ไม่ได้ถึงกับว่าน่ากลัวอะไร เพียงแต่ว่าเราเห็นแต่ตัวเลขซึ่งมันเติบโตเร็ว 7-8 เปอร์เซ็นต์แทบทุกปี ถ้าจะเปรียบก็เหมือนประเทศไทยสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นต้นมาที่ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีคนคิดว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในที่สุดก็แป้ก เพราะเจอเรื่องต่างๆที่ทำให้สะดุดของการพัฒนาในแง่เศรษฐกิจ ส่วนในทางการเมือง ก็สำคัญ เพราะมีความเป็นเผด็จการที่สามารถควบคุมอะไรได้มาก ทำให้การขุดรีดทรัพยากรภายในประเทศเกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติซึ่งแนวโน้มวันนี้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เราได้เห็นสิ่งที่เป็นต้นทุนของสังคม คือการที่คนเวียดนามไม่มีสิทธิ เสรีภาพ มีค่าครองชีพต่ำ คุณภาพชีวิตก็ค่อนข้างแย่” รศ.ดร.ยุกติ กล่าว