รีเซต

สธ.ห่วง จว.ภาคใต้ ติดโควิดพุ่ง! ทำยอดรวมปท.สูง เตียงเริ่มตึง เร่งฉีดวัคซีนตั้งเป้าลดสัปดาห์ละ 10%

สธ.ห่วง จว.ภาคใต้ ติดโควิดพุ่ง! ทำยอดรวมปท.สูง เตียงเริ่มตึง เร่งฉีดวัคซีนตั้งเป้าลดสัปดาห์ละ 10%
มติชน
30 กันยายน 2564 ( 13:00 )
55

เมื่อวันที่ 30 กันยายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงขาลง แต่ตัวเลขจะยังเหวี่ยงอยู่ระหว่างหลักหมื่นกับหลักพันรายต่อวัน หากดูกราฟตัวเลขของทั้งประเทศจะพบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภูมิภาคอื่นๆ ติดเชื้อลดลง

 

 

“แต่ภาคใต้ กราฟการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และเป็นตัวที่มาทำให้อัตราการติดเชื้อในภาพรวมของภูมิภาคยังดูสูง ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้กันอยู่ หากลดการติดเชื้อลงได้ ก็จะทำให้ภาพรวมทั้งประเทศลดลงอีก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

 

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และ สตูล ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดโรคโควิด–19 ในประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง แต่ยังเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากพบว่ามีการระบาดค่อนข้างมาก

 

 

“ลักษณะการระบาดตามหลังสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ 2 เดือน โดยเริ่มมีการติดเชื้อมากขึ้นในเดือนสิงหาคม และเป็นการติดเชื้อในครอบครัว ที่น่ากังวลคือ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างมีกิจกรรมการรวมกลุ่มกันมาก และการฉีดวัคซีนยังต่ำ ซึ่งที่ผ่านมา อัตราการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ก็ถือว่ายังน้อยอยู่ ขณะนี้เรามีการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่แล้วว่า หากฉีดวัคซีนกันมากๆ ครอบคลุมอย่างน้อย ร้อยละ 70 จะเปิดให้ละหมาดร่วมกันได้ เพราะขณะนี้เราห้ามหมดเลย หากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวก” นพ.สุเทพ กล่าว

 

 

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ เขตสุขภาพที่ 12 วางเป้าหมายในการลดอัตราการติดเชื้อให้ได้ ร้อยละ 10 ทุกสัปดาห์ และตั้งเป้าว่า สถานการณ์ต้องคลี่คลายก่อนปีใหม่

 

 

“ถึงตอนนั้นความครอบคลุมวัคซีนจะมีมากขึ้น โดยมีทีม CCRT ทำเรื่องการตรวจคัดกรอง เจอผู้ป่วยก็นำเข้าสู่ระบบการรักษา เดินหน้าฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมสูง ที่สำคัญคือ สร้างความรู้ ทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับคนในพื้นที่ เพราะเราก็กลัวเหมือนกันเนื่องจากเดือนตุลาคมนี้ เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เราต้องติดตามกำกับอย่างเข้มข้น เช่น งานศพ งานกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ที่เป็นการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่ สำหรับมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อ เช่น กรณีให้ผู้ป่วยอาการสีเขียวดูแลตัวเองที่บ้านนั้น ต้องดูเป็นรายกรณี ดูลักษณะครอบครัว การอยู่อาศัยร่วมกันว่าสามารถทำได้ ขณะที่เตียงในโรงพยาบาล (รพ.) ขณะนี้ถือว่าตึงนิดหน่อย อัตราการครองเตียงประมาณ ร้อยละ 80 ถ้าจะให้ผ่อนคลายลงหน่อย อัตราการครองเตียงควรจะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 70 จึงต้องบริหารจัดการกันให้ดี” นพ.สุเทพ กล่าว

 

 

 

นอกจากนี้ นพ.สุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ อัตราการเสียชีวิตในพื้นที่น้อยลงอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 0.9 ขณะที่ภาพรวมการเสียชีวิตของประเทศประมาณ ร้อยละ 1 แต่ถึงจะเสียชีวิตลดลง ก็ไม่ได้ดีใจ เพราะเคสติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ บางรายรักษานานกว่า 2 เดือน แล้วเสียชีวิตก็มี จึงยังต้องจับตาดูต่ออีก 1 เดือน ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

 

 

ส่วนเรื่องสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้นั้น แตกต่างจากภาพรวมของประเทศที่การระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แต่ในภาคใต้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ) ร้อยละ 58 เดลต้า ร้อยละ 38 สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่เดินทางกลับจากพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่แถว ตรัง พัทลุง สตูล เป็นต้น ที่เหลือเป็นสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกา) แต่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส สำหรับข้อกังวลว่า จะมีการผสมกันและเกิดการกลายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ เนื่องจากพบการติดเชื้อถึง 3 สายพันธุ์ เรื่องนี้ผมได้พยายามติดตามข้อมูลในประเทศมาเลเซีย เพราะมีพื้นที่ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนใกล้เคียงกัน ก็ยังไม่เห็นสัญญาณของเชื้อกลายพันธุ์อย่างที่เป็นห่วง” นพ.สุเทพ กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม นพ.สุเทพ ยังกล่าวถึงเรื่องของการข้ามแดนผิดกฎหมายว่า จนถึงขณะนี้ ยังพบบ้างประปราย แต่ก็มีการตั้งด่านตรวจสอบ และเฝ้าระวังการลักลอบอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา จากการตรวจสอบ ติดตาม พบว่าคนที่เข้าเมืองมาแบบถูกกฎหมาย และเข้าระบบกักตัว ตรวจพบการติดเชื้อประมาณ ร้อยละ 30 ส่วนคนที่ลักลอบเข้าประเทศ พอตามตัวและตรวจพบเชื้อประมาณร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันลักลอบเข้ามาไม่มากแล้ว สัปดาห์ละประมาณ 100-200 คน ซึ่งก็มีการตามตัวกลับมาเฝ้าระวังที่สถานกักกันท้องถิ่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง