รีเซต

โกลบอลโฟกัส : ฟิลิปปินส์ ในท่ามกลางวิกฤตโควิด

โกลบอลโฟกัส : ฟิลิปปินส์ ในท่ามกลางวิกฤตโควิด
มติชน
29 กันยายน 2563 ( 04:41 )
121

จนถึง 27 กันยายน ฟิลิปปินส์ ยังคงตกอยู่ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 อย่างหนัก เวิร์ลโดมิเตอร์ เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลโลก ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศสูงถึง 301,256 คน จำนวนเพิ่มของผู้ติดเชื้อ ยังสูงเป็นเรือนพันและหลายพันคนต่อวัน

 

วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในฟิลิปปินส์ ไม่เป็นสองรองใครในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน แซงหน้าแม้แต่ อินโดนีเซีย ชาติในอาเซียนที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในเงาทะมื่นของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนานเกินครึ่งปีมาแล้ว การพังทลายอีกอย่างคืบคลานเข้าสู่ฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจที่ส่อให้เห็นสภาวะง่อนแง่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทะยอยพังครืนลงให้เห็นต่อหน้าต่อตา

 

การพังทลายทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงก่อให้เกิดภาวะถดถอยขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายทดศวรรษ หากยังกลืนกินบรรดาผู้คนที่เป็นชนชั้นล่างในสังคมลงไป ผู้คนซึ่งแต่เดิมต้องกระเสือกกระสน หาเช้ากินค่ำอยู่ก่อนแล้ว ต่อให้พยายามต่อสู้ดิ้นรนสุดขีดอย่างไร ยังหนีไม่พ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศตัวเลขใหม่ สถิติใหม่ที่ไม่มีใครต้องการรับรู้ อัตราว่างงานในหมู่ผู้ใหญ่วัยแรงงาน พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็oประวัติการณ์ถึง 45.5 เปอร์เซ็นต์คิดเป็นจำนวนคนมากมายมหาศาลถึง 27.3 ล้านคน ที่ต้องดิ้นรนแหวกว่ายอยู่ในวังวนวิกฤต หวังเพียงเอาชีวิตรอดไม่มีงานทำก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินทอง ก็ปราศจากอาหาร เลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว ไม่มีหลักประกันใดๆ หลงเหลืออีกแล้ว

 

โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีของพวกเขา ละเลยโควิด-19 เนิ่นนานในระยะแรก นานเกินไปที่จะพลิกสถานการณ์ใดๆ ได้เมื่อได้ตระหนัก

พรมแดนยังเปิดกว้าง ท่าอากาศยานทั้งหลายยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องต่อไปแม้ภายในประเทศจะเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง การตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อและติดตามร่องรอยคนกลุ่มเสี่ยง มาถึงช้าจนเกินไป แต่พลันที่ได้ตระหนัก สถานการณ์ก็สวิงกลับไปอีกด้านอย่างสุดโต่ง

 

16 มีนาคมที่ผ่านมา ดูแตร์เต ตัดสินใจล็อคดาวน์ฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ ประกาศใช้มาตรการเชิงสุขอนามัยเข้มงวด มาตรการกักกันโรคชนิดแข็งกร้าว ปิดพรมแดนห้ามเข้าประเทศในทุกรูปแบบ คุมเข้มการสวมหน้ากากอนามัย ประกาศเคอร์ฟิวด้วยมาตรการบังคับใช้ที่แข็งกร้าว ปิดถนนทุกสายในมะนิลาห้ามการสัญจรไปมาใดๆ มาตรการที่เบาที่สุดที่ ดูแตร์เต ประกาศใช้ออกมาเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดคือ มาตรการรักษาระยะห่าง และ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

มาตรการที่เบาที่สุด ส่งผลสะเทือนกว้างขวางที่สุด เดือนแล้วเดือนเล่า มหานครมะนิลา ถูกตัดขาดจากพื้นที่อื่นๆ ที่เหลือของประเทศโดยสิ้นเชิง

ภัตตาคาร ร้านค้า บาร์ โรงภาพยนตร์ และ สถานที่เพื่อเล่นกีฬาและแข่งขันกีฬาทุกชนิด ได้รับคำสั่งปิดตาย
ทุกคนทำได้แค่อยู่แต่ในบ้าน ถนนทุกสายมีด่านตรวจของทหารฟิลิปปินส์ กระจายอยู่เป็นระยะๆ ที่หนาแน่นที่สุดคือ พื้นที่ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดมากที่สุด ตำรวจที่ลาดตระเวนอยู่ที่นั่นไม่สวมเครื่องแบบปกติอีกต่อไป แต่หันมาใช้ชุดลายพราง สะพายปืนกลเป็นอาวุธ ลาดตระเวนอย่างเคร่งเครียดไปตามตรอกซอกซอยน้อยใหญ่ทั้งหลาย

 

ผู้คนนับพันนับหมื่นคน ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดกฏและละเมิดเคอร์ฟิว เนื่องจากต้องดิ้นรนทำงานและหาอาหารใส่ปากใส่ท้อง

มีอย่างน้อย 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตเพราะละเมิดคำสั่งต่างๆ เหล่านี้

นักสังเกตการณ์หลายคนเชื่อว่า มาตรการล็อคดาวน์ที่ฟิลิปปินส์ สามารถจัดได้ว่าเป็นมาตรการล็อคดาวน์ที่ยาวนานที่สุด และเข้มงวดที่สุด เท่าที่ประกาศใช้กันออกมาบนโลกใบนี้

 

******

 

ผลลัพธ์? ผลของมาตรการปิดประเทศ ปิดกิจการกิจกรรมทั้งหลายนานที่สุด และเข้มงวดที่สุด ได้ผลไม่มากเท่าที่อยากให้เกิดขึ้น

จำนวนผู้ติดเชื้่อรายใหม่ยังคงเพิ่มระดับ ไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดเมื่อไม่นานมานี้ราวกลางเดือนมิถุนายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของทางการฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 27,000 คน ตอนนี้พุ่งทะยานเกินกว่า 300,000 คนในชั่วไม่ช้าไม่นาน

 

สถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวัน เกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงระดับ 7,000 คนต่อวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะค่อยๆ ลดระดับลง

แต่ผลกระทบของการแพร่ระบาดทำให้บรรดาคลินิคและสถานพยาบาลทั้งหลายในเมืองหลวงตกอยู่ในสภาพล้นมือ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข “ไม่เพียงพอ” ขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน

 

รัฐบาลมีคำสั่งห้ามผู้คนเหล่านี้เดินทางออกนอกประเทศอีกต่อไป แต่นั่นไม่ได้ทำให้การขาดแคลนดีขึ้น
โรงพยาบาลรัฐบาล 2 แห่งในเขตมหานครมะนิลา ต้องประกาศปิดลงชั่วคราว เพราะเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาล ได้รับเชื้อโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก มากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะปฏิบัติหน้าที่รับผู้ป่วยได้ตามปกติ

 

โรงพยาบาลเอกชนหลายต่อหลายแห่งจำเป็นต้องปฏิเสธผู้ป่วย ด้วยเหตุผลที่ว่า เตียงพยาบาลไม่มีเพียงพออีกต่อไปแล้ว

ในสภาพเช่นนี้ มีเงิน ใช่ว่าจะสามารถเยียวยารักษาชีวิตตัวเองได้!

อย่าว่าแต่ยังมีผู้คนอีกมหาศาลในเขตมหานคร ที่ไม่มีแม้แต่หลักประกันสนุขภาพ หรือเข้าถึงการรักษาพยาบาลใดๆ

ไม่น่าแปลกแต่อย่างใด ที่ผู้คนจำนวนมากเหล่านี้ต้องเข้าแถวรอคิวกันยาวเหยียด คดเคี้ยวด้านหน้าเตนท์ ของศูนย์ทดสอบตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ทางการจัดให้มีขึ้น 2-3 ศูนย์

 

เพื่อป้องกันไม่ให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งหมดพังพาบลงต่อหน้าต่อตา รัฐบาลฟิลิปปินส์ จำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ในการรับมือกับวิกฤตสาหัสหนนี้แล้ว

 

******

 

ทางการฟิลิปปินส์ พยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมสถานการณ์โกลาหลที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยในเวลาเดียวกันก็ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสภาวะเศรษฐกิจในสังคมให้มากไปกว่านี้

 

มาตรการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดบางประการถูกผ่อนคลายลง ร้านรวงต่างๆ บางประเภทเริ่มได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการ เช่นเดียวกับ สำนักงานของบริษัทต่างๆ และภัตตาคาร ร้านอาหาร กระนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมที่เหลืออย่างเข้มงวดหลายคนตั้งคำถามเอากับมาตรการนี้ว่า ประกาศใช้ช้าเกินไปหรือไม่? น้อยเกินไปอยู่เล็กน้อยหรือเปล่า? ถึงตอนนั้น สนามกีฬาหลายแห่ง ยิมเนเซียม และ สนามบาสเก็ตบอล กีฬาโปรดของชาวฟิลิปปินส์ ถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นศูนย์อพยพชั่วคราวโดยไม่มีใครบริหารจัดการ

 

คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาทำงานในเขตมหานคร พากันหอบข้าวหอบของเท่าที่มี บุกเข้ามายึดสถานที่เหล่านี้เป็นที่อาศัย ซุกหัวนอน

 

แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ ตกงานเฉียบพลัน แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวล่วงหน้า เพราะคำสั่งของทางการ

อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่ได้แต่รวมตัวกันอยู่อย่างอับจนในมหานครมะนิลา เนื่องจาก เที่ยวบิน รถโดยสาร และเรือเฟอร์รี ถูกสั่งระงับทั่วทั้งประเทศ

 

พวกเขารวมตัวกันอยู่อย่างเลื่อนลอย ชาย หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ทั้งหลายใช้ชีวิตอยู่ต่อไปวันๆ รอคอยว่าวันหนึ่งจะมีใครสักคนบอกพวกเขาได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขาต่อไป

 

ผู้คนในภาวะวิกฤตจำนวนมากเหล่านี้ ถึงกับมีชื่อเรียกขาน “แอลเอสไอ” ( Locally Stranded Individuals-LSIs) หรือ “บุคคลท้องถิ่นตกค้าง” คือคำที่เพื่อนร่วมชาติใช้เรียกพวกเขา

 

ถึงที่สุดแล้วทางการฟิลิปปินส์ จำเป็นต้องทำโครงการจัดส่ง “แอลเอสไอ” เหล่านี้กลับบ้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ใช้รถโดยสารกับเรือเฟอร์รี ให้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนฟรีๆ

 

คำประกาศให้เคลื่อนย้ายจะมีขึ้น ทุกๆ สองสัปดาห์ ทุกคนได้แต่ตั้งตารอคอย

การทนทุกข์ ลำบากตรากตรำที่บ้านตัวเอง ยังพอทนทานได้มากกว่าในมหานครที่มีผู้คนเป็นเรือนล้านแออัดอยู่แน่นอน

 

******

 

กระนั้น ทุกอย่างชะงักลงอีกครั้งเมื่อ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลเผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง สมาคมวิชาชีพทางการแพทย์รวม 80 สมาคม ยื่นหนังสือกดดันให้รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์อีกครั้ง
แม้จะไม่ใช่เป็นการปิดกั้นทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา แต่การล็อคดาวน์ เขตมหานครมะนิลา กับอีก 4 จังหวัดปริมณฑล ก็ส่งผลกระทบกับผู้คนมหาศาลถึง 27 ล้านคน

 

อีกครั้งที่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประกาศอย่างแข็งกร้าว พร้อมยิงทุกคนที่ละเมิดกฏเกณฑ์กักกันโรค!

ปลายเดือนสิงหาคม รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการลงอีกครั้ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่สามารถคลี่คลายความกังวลในใจของทุกผู้คนที่เริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ฟิลิปปินส์ กำลังพ่ายแพ้ในการทำศึกกับเชื้อโรคขนาดเล็กที่ตาเปล่ามองไม่เห็นนี้

 

ชุมชนแออัด คัลลูแกน ในเขตเมโทรมะนิลา คือพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่นที่สุดของนครหลวงของฟิลิปปินส์ และไม่น่าแปลกใจที่เป็นพื้นซึ่งเกิดการแพร่ระบาดหนักที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

 

ผู้คนเหล่านี้ แม้ในยามปกติก็แทบไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยวอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีเงินทองเพียงพอแม้จะครอบครองโทรศัพท์มือถือที่เป็นที่นิยมกันนักหนาสักเครื่อง ผู้คนที่อาบเหงื่อต่างน้ำ หากินไปวันๆ ก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาด

 

เมื่อการระบาดมาถึง พวกเขาก็ไม่หลงเหลืออะไรอีกต่อไปแล้ว

ไดออสดาโด ปาดิลญา เจ้าของ จิ๊ปนีย์ วัย 56 ปี ไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยอีกต่อไป ต้องระเห็จออกมาใช้ชีวิตอยู่บนรถที่รับจ้าง รับผู้โดยสารใดๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะคำสั่งห้ามสัญจรออกนอกบ้าน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน อดอยากหนักเข้า ทั้งสองต้องแบมือขอ “เศษเงิน” ไม่กี่เปโซเพื่อซื้อหาอาหารใส่ท้องไปวันๆ แน่นอน หลังจากที่เคยผ่านประสบการณ์ ไม่มีอะไรตกถึงท้องนานถึงสองวันเต็ม

 

ถ้าเลือกได้เขาคงเลือกที่จะเหน็ดเหนื่อยกับการตระเวนรับ-ส่งผู้โดยสารมากกว่าที่จะมาขอทานอยู่ข้างถนน 5 เดือนแล้วที่เขาต้องใช้รถเป็นบ้าน และขอทานเพื่อยังชีพอย่างนี้

 

เอดูอาร์โด วาซเควซ บาทหลวงประจำโบสถ์แคทอลิคในคัลลูแกน สลัมที่มีผู้คนยัดทะนานอยู่กว่า 1.5 ล้านคน บอกว่าสถานการณ์ในยามนี้น่าแตกตื่นนัก

“ที่เลวร้ายถึงที่สุดยังคงมาไม่ถึง จะยังคงมีคนอีกมากและมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องตกงานและไม่เหลืออะไรแม้แต่จะใส่ปากใส่ท้อง จะต้องมีคนอด คนหิวโหยอีกมาก”

 

“นี่คือสงคราม มหาสงคราม พ่อจำเป็นต้องใช้ศรัทธาเท่าที่มีเพื่อให้สามารถรับใช้คนยากจนเหล่านี้ เพราะพวกเขากำลังอดตาย

ศรัทธา การสวดอ้อนวอน อาจช่วยอะไรได้ไม่มากเท่ากับโรงทานที่จัดตั้งขึ้นรองรับคนไร้บ้าน ไร้งาน เหล่านี้ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที จนแม้แต่โบสถ์ ก็กลายเป็นที่พักชั่วคราวของพวกเขา

 

อย่างน้อยที่สุด โบสถ์แห่งนี้ก็กลายเป็นความหวัง เป็นทางออกให้พวกเขาอยู่บ้างในยามมืดมนนี้ ไม่ให้เป็นเหมือนหลายคนที่หลวงพ่อวาซเควซ เคยพบเห็นมา

 

หลายคนที่หมดหวัง ไร้ทางออกแล้วฆ่าตัวตายให้กับวิกฤตโควิดหนนี้!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง