รีเซต

440 ร้านยาทั่วปท. ร่วมดูแลโควิดบัตรทอง-ขรก.-พนง.ท้องถิ่น จ่ายยา-ติดตามอาการ

440 ร้านยาทั่วปท. ร่วมดูแลโควิดบัตรทอง-ขรก.-พนง.ท้องถิ่น จ่ายยา-ติดตามอาการ
มติชน
6 เมษายน 2565 ( 14:47 )
198
440 ร้านยาทั่วปท. ร่วมดูแลโควิดบัตรทอง-ขรก.-พนง.ท้องถิ่น จ่ายยา-ติดตามอาการ

วันนี้ (6 เมษายน 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว หรือกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกัน กรณีโรคโควิด-19 สำหรับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง โดยให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self-Isolation) หรือ “เจอ แจก จบ” ในสถานพยาบาลต่างๆ นั้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการ โดยเฉพาะที่หน่วยบริการใกล้บ้าน สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เชิญชวนร้านยาที่มีความพร้อมบริการเพื่อร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่ สธ.กำหนดเป็นหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้รวดเร็ว

 

“ทั้งนี้ผู้ที่ตรวจ ATK แล้ว ผลขึ้น 2 ขีด ที่แปลว่าติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย และเป็นกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่ สธ.กำหนด สามารถรับยาสำหรับดูแลอาการเบื้องต้นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยร้านยาจะรับค่าใช้จ่ายกรณีบริการทางเภสัชกรรมในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ สปสช.ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565” นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับอัตราค่าบริการจะเป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 700 บาทต่อราย ครอบคลุมบริการ ดังนี้ 1.บริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน 2.ค่ายาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รวมค่าบริการจ่ายยากรณีที่แพทย์สั่งจ่ายเฉพาะในการดูแลผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่จำเป็นต้องได้รับตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยรวมค่าจัดส่งยา 3.ค่าบริการให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ยา และติดตามอาการผู้ติดเชื้อเมื่อครบ 48 ชั่วโมงแรก และ 4.การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเพิ่มเติมแบบเหมาจ่ายในอัตรา 150 บาท สำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ติดต่อกลับร้านยาเพื่อขอรับคำปรึกษาหลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว โดยก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการเพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล ปัจจุบันมีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมแล้วกว่า 700 แห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช.แล้ว 440 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/197

ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากที่ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งหากเข้าไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาล (รพ.) ก็อาจจะทำให้เกิดความแออัดขึ้นได้ ดังนั้น สภาเภสัชกรรม จึงร่วมกับ สปสช. จัดทำหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มารับยาและคำแนะนำต่างๆโดยเภสัชกรที่ร้านยาได้ โดยต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์ ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีโรคประจำตัว และมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรค เช่น มีภาวะอ้วน เป็นต้น

“หากไม่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ สามารถโทรติดต่อหรือมาที่ร้านยา สแกนคิวอาร์ โค้ด เพื่อยืนยันตัวตนตามระบบของ สปสช.แล้วรับยาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งร้านยาจะจัดเซ็ตยาสำหรับรักษาตามอาการส่งให้ที่บ้าน เช่น ฟ้าทะลายโจร พาราเซตามอล ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ฯลฯ ตลอดจนเกลือแร่สำหรับกรณีมีอาการท้องเสีย จากนั้น จะติดตามอาการไปอีก 48 ชั่วโมง และหากอาการรุนแรงมากขึ้นก็จะส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบเพื่อให้แพทย์รับช่วงดูแลต่อ” ภก.ปรีชา กล่าว

ภก.ปรีชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีร้านยาเข้าร่วมให้บริการประมาณ 700 แห่งทั่วประเทศ โดยผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ที่หน้าร้านยาซึ่งจะมีข้อความว่า “สถานบริการเภสัชกรรมชุมชน” และบรรทัดล่างจะเขียนว่า “เครือข่ายเภสัชกรอาสาปรึกษาโควิดผ่านระบบเภสัชกรรมทางไกล” อีกทั้งขอให้มั่นใจว่าจะได้รับการบริการที่ได้มาตรฐาน เภสัชกรเป็นบุคลกรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องยา มีความคุ้นเคยกับอาการของโรคอย่างมาก สามารถให้บริการผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการได้เป็นอย่างดี

ภก.ปรีชา กล่าวว่า ปัจจุบันร้านยาในโครงการนี้สามารถให้บริการได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ยังไม่รวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ดังนั้นเชิญชวนไปยังสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อำนวยความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ผู้ประกันตน สามารถติดต่อไปที่สภาเภสัชกรรมเพื่อหารือแนวทางการร่วมมือกันต่อไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง