รีเซต

จ่อวิจัย "ภูมิคุ้มกัน" ผู้ป่วย "โควิด-19" และคนใกล้ชิด เบื้องต้นรับอาสาสมัคร 500 คน

จ่อวิจัย "ภูมิคุ้มกัน" ผู้ป่วย "โควิด-19" และคนใกล้ชิด เบื้องต้นรับอาสาสมัคร 500 คน
มติชน
24 มิถุนายน 2563 ( 18:21 )
86
จ่อวิจัย "ภูมิคุ้มกัน" ผู้ป่วย "โควิด-19" และคนใกล้ชิด เบื้องต้นรับอาสาสมัคร 500 คน
จ่อวิจัย “ภูมิคุ้มกัน” ผู้ป่วย “โควิด-19” และคนใกล้ชิด เบื้องต้นรับอาสาสมัคร 500 คน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวโครงการวิจัยภาวะภูมิคุ้มกันในคนไทยที่เป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และผู้ที่มีความเสี่ยง ว่า ระหว่างรอคอยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทดลองในมนุษย์ช่วงปลายปี 2563 ระหว่างนี้ สธ.และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะสนับสนุนงบประมาณให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ทำการวิจัยหาข้อมูลว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้วจะมีภูมิคุ้มกันอยู่กับตัวนานแค่ไหน ป้องกันการติดเชื้อใหม่ได้นานแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้รักษาหายแล้ว 3,000 กว่าคน คนเหล่านี้จะถือเป็นฮีโร่โควิด-19 ที่ยอมเสียสละ ไม่กลัวการตีตรา ที่จะให้เลือดมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง

 

ด้าน นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.กล่าวว่า การศึกษานี้จะศึกษาจากเลือดของผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 และผู้สัมผัสผู้ป่วยแต่ไม่มีอาการว่าจะมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ สร้างภูมิคุ้มกันได้เองหรือไม่ และเป็นภูมิที่ป้องกันไวรัสได้หรือไม่ และระยะเวลาในการเกิดภูมิคุ้มกันเป็นเวลาเท่าไร และจะอยู่ได้นานแค่ไหน เพื่อนำเป็นข้อมูลไปใช้ขายผลเรื่องวัคซีน การออกมาตรการ นโยบายต่างๆ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด

 

ผศ.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ร่างกายเมื่อจับเชื้อโรคจะสร้างภูมิ แต่จะป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ หรือป้องกันได้นานแค่ไหน จะแตกต่างกันไประหว่างเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสเอชไอวี ภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันได้ ส่วน ไวรัสหัด ไวรัสหัดเยอรมัน เป็นแล้วภูมิคุ้มกันจะอยู่ไปตลอดชีวิต และกลุ่มที่อยู่กึ่งกลาง เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องฉีดวัคซีนทุกปี เพราะภูมิสามารถหายไปในเวลาไม่นาน และไวรัสกลายพันธุ์ได้

 

ผศ.นพ.ปกรัฐ กล่าวว่า ส่วนไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้มีไวรัสโคโรนาในกลุ่มเดียวกันระบาดในคน 6 ครั้ง ก็ต้องมาศึกษา โดยศึกษาในคนที่หายป่วยแล้วว่า

“ที่หายได้ หายด้วยภูมิคุ้มกันอะไร เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือสารน้ำที่เป็นภูมิคุ้มกันเรียกว่าแอนติบอดีมีหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร และคนใกล้ชิดกับผู้ป่วย ที่เป็นไปได้ว่าอาจจะเคยติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ และไม่เคยไปพบแพทย์ เขาใช้ภูมิคุ้มกันอะไรในการปกป้องตัวเองจากการติดเชื้อ” ผศ.นพ.ปกรัฐ กล่าวและว่า ในระยะแรกจะรับอาสาสมัคร 500 คน ทั้งคนหายแล้วและผู้ใกล้ชิดเพื่อมาเจาะเลือด ดูว่าเลือดมีภูมิคุ้มกันอะไรบ้าง มีคุณภาพอย่างไร หลังจากนั้นติดตามต่อผู้ที่มีภูมิป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่

 

ผศ.นพ.ปกรัฐ กล่าวว่า สำหรับอาสาสมัครเราไม่จำกัดเพศ อายุไม่ควรต่ำกว่า 18 ปี ผู้สูงอายุไม่ใช่ปัญหา หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเดินทางสะดวก โดยสามารถติดต่อสมัครได้ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนเลือดนั้นจะใช้เพียง 1 ใน 5 ของการบริจาคเลือดปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง