รีเซต

หาน จื้อเฉียง ทูตจีน-ฉายภาพสัมพันธ์ไทย

หาน จื้อเฉียง ทูตจีน-ฉายภาพสัมพันธ์ไทย
มติชน
14 พฤศจิกายน 2565 ( 09:11 )
66
หาน จื้อเฉียง ทูตจีน-ฉายภาพสัมพันธ์ไทย

หมายเหตุ – เป็นบทสัมภาษณ์ “หาน จื้อเฉียง” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย ในความสัมพันธ์ไทย-จีน และการเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจ ในโอกาส “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนเดินทางร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)

⦁ปีนี้เป็นปีครบรอบ 47 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย และยังเป็นปีครบรอบ 10 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทย ท่านประเมินต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยในปัจจุบันอย่างไร ท่านคิดว่าจีน-ไทยควรผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศต่อไปในวันข้างหน้าอย่างไร

ประเทศจีนและไทยมีประวัติการสืบทอดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นพันปี เป็นพี่น้อง เพื่อนบ้านและหุ้นส่วนที่ดี “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” เป็นคำกล่าวที่ฝังลึกลงในใจของประชาชนทั้งสองประเทศ สองปีกว่าที่ผ่านมานี้ ประเทศทั้งสองได้ร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาดโควิด และช่วยกันผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นการเขียนบทนิยามใหม่ให้กับความสัมพันธ์ของจีน-ไทยที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน เสมือนลงเรือลำเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขใหม่ทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ของจีน-ไทยได้มาสู่โอกาสในการพัฒนาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นโอกาสที่มีศักยภาพมหาศาล มีอนาคตที่สดใส เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่ไม่แน่นอน ประเทศจีนและไทยจึงต้องยึดมั่นในความถูกต้อง และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นการรับประกันว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะมั่นคง และสืบต่อไปอย่างยาวนาน

ประการแรกคือ ยึดมั่นในการพัฒนาฉันมิตรที่ดี และเพื่อนบ้านที่ดีอันเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะไม่สับสนจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และไม่ถูกรบกวนจากข่าวลือต่างๆ มุ่งมั่นสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน สร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” อย่างต่อเนื่อง

ประการที่สองคือ ยืดมั่นในการส่งเสริมความร่วมมืออันก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาของทั้งสองประเทศ ผลักดันให้เส้นทางรถไฟระหว่างจีน-ลาว-ไทยมีการเชื่อมต่ออย่างรอบด้านในเร็ววัน เพื่อบรรลุผลสำเร็จในการพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างจีน-ลาว-ไทย ใช้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่างๆ จากการบังคับใช้อย่างเป็นทางการของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนในการสนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของจีน-ไทยให้ก้าวสู่มิติใหม่อย่างต่อเนื่อง

ประการที่สามคือ ยึดมั่นในการเพิ่มความเชื่อใจซึ่งกันและกันในทางการเมือง เคารพซึ่งกันและกันในเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์หลักของแต่ละประเทศ เข้าใจและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการที่แต่ละฝ่ายจะพัฒนาไปในเส้นทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศตน เสริมสร้างด้านธรรมาภิบาลประเทศ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน รักษาเสถียรภาพทางสังคมและความมั่นคงทางการเมืองของกันและกัน

ประการที่สี่คือ ยึดมั่นในการแลกเปลี่ยนบุคลากร และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง มุ่งมั่นเอาชนะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ฟื้นฟูการแลกเปลี่ยนของบุคลากรระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาอันดีระหว่างประชาชน เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวัฒนธรรมทางเครือข่ายและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ให้เยาวชนของทั้งสองประเทศมีความรู้ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการพัฒนาสังคมของกันและกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นหลักประกันว่ามิตรภาพอันดีระหว่างจีน-ไทยจะถูกส่งต่อไปรุ่นต่อรุ่น และพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ

ประการที่ห้าคือ ยึดมั่นในการเสริมสร้างการประสานงานและการเจรจาด้านกิจการระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค เสริมสร้างความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี เช่น องค์การสหประชาชาติ ร่วมกันปลูกฝังภูมิปัญญาแห่งเอเชียและความเข้มแข็งของเอเชียสู่ธรรมาภิบาลโลก ร่วมกันปกป้องการพัฒนาอย่างสันติในภูมิภาค และความร่วมมือที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันระมัดระวังในแนวคิดแบบเกมผลรวมเป็นศูนย์ และแนวคิดแบบสงครามเย็นที่มีแต่การบ่อนทำลายความร่วมมือ และความสามัคคีในภูมิภาค สร้างความแตกแยกและการเผชิญหน้า

⦁ประเทศจีนครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องมาหลายปี การลงทุนระหว่างสองประเทศยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ามีความใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางรถไฟจีน-ไทย และโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายอื่นๆ กำลังคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ในความคิดเห็นของท่าน ทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพในความร่วมมือที่สำคัญในด้านไหนบ้าง

ประเทศจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทยที่ใหญ่ที่สุดและเป็นประเทศต้นทางของทุนต่างประเทศที่สำคัญ ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนกระแสและเอาชนะผลกระทบจากการระบาดของโควิด ปี 2021 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเกินหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก โดยอยู่ที่ 1.312 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33% โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนเพิ่มขึ้น 52.4% ในเดือนมกราคมถึงกันยายนของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศได้เกินหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐแล้ว และยังคงรักษาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทั้งปีจะสร้างสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นอย่างดีให้กับการผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศหลังการระบาดของโควิด

การเชื่อมต่อระหว่างกันได้ส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นบูรณาการ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดวิ่งใกล้หนึ่งปีและได้ขนส่งสินค้ากว่า 10 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของจีน-ไทย การเร่งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยเพื่อให้เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของจีน-ลาวซึ่งจะกลายเป็นเส้นทางรถไฟสายหลักที่วิ่งผ่านคาบสมุทรอินโดจีน และจะมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าระหว่างจีน-ไทย ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้า และบรรลุความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

ความร่วมมือในภาคธุรกิจแบบดั้งเดิมนั้นมีศักยภาพมหาศาล ประเทศไทยได้สนับสนุนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยด้วยการออกมาตรการดึงดูดการลงทุนจำนวนหลายมาตรการ หลายปีมานี้บริษัทสัญชาติจีนที่มาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากมองในภาพรวม ยังคงมีศักยภาพมหาศาลที่ยังไม่ถูกค้นพบ ในขณะเดียวกัน ทางประเทศจีนก็ยินดีต้อนรับบริษัทจากไทยมาลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความต้องการสูงเป็นอย่างมากสำหรับความร่วมมือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน และด้านอื่นๆ ระหว่างทั้งสองฝ่าย

สำหรับความร่วมมือในธุรกิจชั้นแนวหน้านั้นมีอนาคตที่เปิดกว้าง ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ฯลฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา เทคโนโลยี 5G อีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เซลล์แสงอาทิตย์ ฯลฯ ของจีน ได้มีส่วนช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในไทย ทิศทางความร่วมมือจีน-ไทยในด้านนี้กำลังถูกผลักดันไปอย่างรวดเร็ว และมีอนาคตที่เปิดกว้าง ทั้งยังกำลังกลายเป็นแสงสว่างใหม่ และเป็นจุดเติบโตที่สำคัญสำหรับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมต่อประเทศทั้งสอง

ความได้เปรียบของระบบยังน่าคาดหวัง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองฝ่ายในปัจจุบันยังคงมีปัจจัยจำกัดบางประการจากนโยบายและจากระบบ ทั้งสองประเทศสามารถเสริมสร้างความร่วมมือและการเจรจาด้านนโยบายให้มากขึ้น ปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้จุดขัดข้อง จุดยากลำบากจากนโยบายและระบบ เพิ่มระดับมาตรฐานของมาตรการที่ใช้ในการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ให้ระบบสามารถสร้างผลประโยชน์ในการผลักดันการพัฒนาร่วมกัน และผลักดันความร่วมมือที่ก่อเกิดผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

⦁ประเทศจีนทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีส่วนในผลประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกช่วงหลังการระบาดของโควิด ท่านคิดว่า ภายใต้สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอน การที่เศรษฐกิจจีนยังคงดำเนินอย่างมั่นคงและเปิดเสรีอย่างต่อเนื่อง มีความหมายสำคัญอย่างไรต่อการฟื้นฟู และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย

การประชุมสมัชชาแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 จัดขึ้นด้วยความสำเร็จ ได้มีการเลือกผู้นำชุดใหม่ของพรรค เลขาธิการใหญ่สี จิ้นผิงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตามที่ทุกคนคาดหวัง ปัจจุบัน ภายใต้การนำที่เข้มแข็งของคณะกรรมการกลางพรรคที่มีท่านสี จิ้นผิงเป็นแกนหลัก ประชาชนจีนทุกคนต่างมีกำลังใจฮึกเหิม และมุ่งสู่การเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างรอบด้าน ผลักดันการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีนอย่างรอบด้านด้วยความทันสมัยในรูปแบบของจีน

ประเทศจีนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีอัตราส่วนเฉลี่ยในการเกื้อหนุนการเติบโตต่อปีของเศรษฐกิจโลกถึง 38.6% ซึ่งมากกว่าผลรวมของอัตราส่วนในการเกื้อหนุนจากประเทศ G7 ตามแนวทางที่ถูกกำหนดจากการประชุมสมัชชาฯครั้งที่ 20 ประเทศจีนจะเดินตามวิถีสังคมนิยมในแบบเฉพาะของจีนในการดำเนินแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่ สร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ มุ่งมั่นเพื่อบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ประเทศจีนจะเดินบนเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติต่อไป ผลักดันการยกระดับมาตรฐานในการเปิดเสรี มีส่วนร่วมเชิงลึกในความร่วมมือ และการแบ่งหน้าที่ของอุตสาหกรรมโลก รักษาเสถียรภาพที่มีความหลากหลายของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า และรักษารูปแบบของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเทศจีนในฐานะที่เป็นองค์กรเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยครองสัดส่วนเศรษฐกิจรวมของโลกถึง 18% จะยังรักษาการพัฒนาอย่างมั่นคง และยกระดับมาตรฐานในการเปิดเสรี ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นการสร้างพื้นที่กว้างใหญ่ไร้ขอบเขตให้กับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมของจีน-ไทย และสร้างอนาคตที่สวยงาอย่างไม่ต้องสงสัย

ประการแรกคือ โอกาสทางการตลาดที่ใหญ่มหาศาล ขนาดเศรษฐกิจของประเทศจีนได้มีมูลค่าถึง 17.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นแต่ละปีเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2021 ยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งประเทศมีมูลค่ารวม 44 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 6.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศจีนมุ่งมั่นในการขยายการเปิดเสรีตลาดในประเทศสู่โลกภายนอก ระดับภาษีโดยรวมลดลงเหลือ 7.4% และได้มีการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีนเป็นเวลาต่อเนื่องถึงปีที่ 5 แล้ว ตลาดที่ใหญ่และเปิดเสรีของจีนมีบทบาทสนับสนุนอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่งต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ประการที่สองคือ โอกาสในการร่วมมือและการแบ่งหน้าที่ทางอุตสาหกรรม ประเทศจีนมีระบบอุตสาหกรรมที่ครบครันด้วยความทันสมัย และกำลังเปลี่ยนผันจากประเทศผู้ผลิตที่มีขนาดใหญ่เป็นประเทศผู้ผลิตที่มีความแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน ก็มุ่งมั่นมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านในความร่วมมือและการแบ่งหน้าที่ทางอุตสาหกรรมของนานาชาติ ประเทศจีนได้ดำเนินการตามหลักความเสมอภาค และแนวปฏิบัติ “การระงับลงทุน” (Negative List Guideline) อย่างครอบคลุม ปรับปรุงการเข้าถึงการลงทุน และสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ปี 2021 เม็ดเงินลงทุนโดยตรงที่แท้จริงจากต่างประเทศอยู่ที่ 173.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าเป็นอันดับสองของโลก ประเทศจีนสนับสนุนให้บริษัทในประเทศไปพัฒนาการลงทุนที่ต่างประเทศอย่างแข็งขัน ปัจจุบัน บริษัทจีนที่ไปลงทุนในต่างประเทศมีถึง 45,000 กว่าบริษัท มูลค่าสะสมในการลงทุนที่ต่างประเทศเกินกว่า 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ประการที่สามคือ โอกาสในการพัฒนาด้านนวัตกรรม ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีระหว่างประเทศ มุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลกอย่างแข็งขัน ประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่กลุ่มประเทศแห่งนวัตกรรม มีความก้าวหน้าในสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญๆ อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จอย่างมากทั้งในอุตสาหกรรมการบินอวกาศ การสำรวจใต้พิภพลึก และใต้ทะเลลึก ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ระบบนำทางด้วยดาวเทียม ข้อมูลควอนตัม เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ และชีวการแพทย์ ประเทศไทยได้กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 และมีการผลักดันการพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างแข็งขัน ประเทศจีนและไทยสามารถเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนของทรัพยากรทางนวัตกรรมระหว่างสองประเทศ ร่วมมือกันคว้าโอกาสใหม่ๆ ในยุคสมัยของนวัตกรรม

⦁การประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) พ.ศ.2565 กำลังจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เร็วๆ นี้ ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่ผันผวนและซับซ้อน ประเทศไทยได้เตรียมการอะไรบ้างสำหรับการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยคาดหวังอะไรจากฝ่ายจีนและการมีส่วนร่วมของผู้นำจีน

สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันมีความซับซ้อนและผันผวน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้เผชิญปัญหา มีทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ สำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาค การประชุมเอเปคในปีนี้เป็นการรวมตัวของผู้นำกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ แบบออฟไลน์ครั้งแรกในรอบสามปี

ในฐานะเจ้าภาพ ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกิจกรรมต่างๆ สำหรับการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้โดยได้มุ่งมั่นที่จะเอาชนะผลกระทบจากปัจจัยที่มีความซับซ้อน ทั้งภูมิรัฐศาสตร์และการควบคุมโรคระบาด ทำให้การเตรียมการต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายไทยร่วมกับสมาชิกฝ่ายอื่นๆ ภายใต้ธีม “เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล” สำหรับการประชุมเอเปคในปีนี้ ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการร่วมกันในด้านการพัฒนาและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังร่วมกันของเศรษฐกิจและผู้คนในภูมิภาค และเอื้อต่อการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความพยายามของฝ่ายไทยและความสำเร็จที่ได้รับ เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นเสาหลักของการเติบโตที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก และเอเปคเป็นองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 27 เมื่อปี 2563 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะสร้างชุมชนเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ยืดหยุ่น และสงบสุขภายในปี 2583วิสัยทัศน์นี้สะท้อนถึงความปรารถนาร่วมกันของเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในภูมิภาค สอดคล้องกับผลประโยชน์ด้านการพัฒนาร่วมกัน และสมควรได้รับความพยายามร่วมกันจากทุกฝ่าย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลไกของเอเปคได้กำหนดแนวทางแห่งเอเปคอันประกอบด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาคและการได้ประโยชน์ร่วมกันการมีฉันทามติ และด้วยความสมัครใจ ซึ่งมีคุณค่าที่สำคัญและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ควรค่าแก่การปกป้องและนำไปปฏิบัติของทุกฝ่าย

ฝ่ายจีนสนับสนุนบทบาทการเป็นเจ้าภาพของฝ่ายไทย ปกป้องทิศทางที่ถูกต้องสำหรับการพัฒนาของเอเปค ส่งเสริมให้เอเปคมุ่งเน้นที่เอเชียแปซิฟิก มุ่งเน้นการพัฒนา มุ่งเน้นความร่วมมือ และมุ่งเน้นการสร้างเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนการสร้างประชาคมเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้เอเปคทะยานขึ้นอีกครั้งที่กรุงเทพมหานคร การร่วมงานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับเอเปคและสนับสนุนฝ่ายไทย และเป็นการส่งเสียงของประเทศจีนและใช้ภูมิปัญญาจีนเพื่อพัฒนาเอเปค ปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก และฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก เชื่อว่านี่คือสิ่งที่ประเทศไทยและสมาชิกเอเปคอื่นๆ ตั้งตารอเช่นกัน

⦁หมอกควันของโรคระบาดแห่งศตวรรษยังไม่หมดไป ความขัดแย้งเฉพาะพื้นที่ก็ประทุขึ้นอีก ความคิดแบบสงครามเย็นและการเมืองแบบกลุ่มก้อนเริ่มกลับมาอีกครั้ง ลัทธิเอกภาคีนิยมและลัทธิกีดกันเริ่มผงาด และโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับสวนกระแส จีนและไทยได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือในกิจการระดับภูมิภาคและโลก โครงการริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลกและการริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลกของจีนได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากประเทศไทย ท่านคิดว่าความร่วมมือในด้านต่างๆ ข้างต้นจะส่งผลดีอะไรต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีน-ไทย

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แนวคิดสงครามเย็นและการเผชิญหน้าแบบกลุ่มได้ก่อกวนความสงบของโลก โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ ความขัดแย้งในภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น และสันติภาพและการพัฒนาของโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ร้ายแรง จีนและไทยเป็นทั้งประเทศกำลังพัฒนาและเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน มีข้อเสนอร่วมกัน และมีจุดยืนในประเด็นสำคัญระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคร่วมกัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เสนอข้อริเริ่มเพื่อการพัฒนาระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุวาระ 2030 แห่งสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ยึดมั่นในแนวคิดการพัฒนาเป็นสำคัญและเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการพัฒนาที่สำคัญ และได้มีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมกว่า 100 ประเทศ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาระดับสูงเกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลกซึ่งมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นประธาน ส่วนนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับเชิญให้เข้าร่วม “การประชุมกลุ่มย่อยระดับรัฐมนตรีว่าด้วยข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสนับสนุนข้อริเริ่มนี้อย่างเข้มแข็งด้วยการปฏิบัติจริง ข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลกที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเสนอเพื่อคลี่คลายความยากลำบากด้านความมั่นคงระดับโลกก็ได้รับความสำคัญอย่างสูงและการตอบสนองเชิงบวกจากฝ่ายไทยเช่นกัน

จีนและไทยยังคงรักษาการติดต่อประสานงานระหว่างกันอย่างดีในกิจการระหว่างประเทศและภูมิภาค ซึ่งมีความหมายสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และยังเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทั้งสองประเทศมีเป้าหมายเดียวกันและเดินบนเส้นทางแห่งสันติภาพและการพัฒนาร่วมกัน สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันในทางการเมือง และช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่เอื้อต่อการปกป้องความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของตนเอง เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะยังคงเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อนำความสุขมาให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้ดียิ่งขึ้น และมีส่วนร่วมในสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและของโลกต่อไป

⦁การที่ผู้นำจีนจะเข้าร่วมการประชุมเอเปคในประเทศไทยครั้งนี้ จะมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยอย่างไร

ตามคำเชิญของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรไทย นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 และเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2556 ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังเตรียมการด้านต่างๆ อย่างเข้มข้น การเยือนไทยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงครั้งนี้ จะเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำระดับสูงของประเทศและของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 และเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในฐานะประมุขแห่งรัฐจึงไม่ต้องสงสัยว่าการเยือนครั้งนี้จะเป็นการเยือนที่มีส่วนสำคัญต่อการชี้นำและการผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยอย่างไร้ข้อเปรียบเทียบ ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำไทยเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศภายใต้สถานการณ์ใหม่และปัญหาระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่ทั้งสองฝ่ายมีความกังวลร่วมกัน และจะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในเอกสารความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญหลายฉบับระหว่างสองประเทศ และขณะนี้เอง ทุกระดับในสังคมไทยกำลังตั้งตารอการมาถึงของประธานาธิบดีสีอย่างใจจดใจจ่อ ไม่เพียงแต่มีการรายงานผ่านสื่อต่างๆ ที่แสดงการต้อนรับอย่างอบอุ่น พวกเราที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกนี้ผ่านความปลื้มปิติของผู้คนจากทุกสาขาอาชีพที่เราได้ปฏิสัมพันธ์ด้วย ผมเชื่อว่าการเยือนไทยของประธานาธิบดีสีครั้งนี้จะราบรื่น ประสบความสำเร็จ และบรรลุผลที่เป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน อีกทั้งจะเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยในระยะยาวในอนาคต สร้างแรงผลักดันที่แข็งแกร่ง และกลายเป็นก้าวใหม่ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-ไทย

⦁ท่านปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว สิ่งที่ประทับใจที่สุดคืออะไร

ตลอดหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมากที่สุดคือการต่อสู้กับโรคระบาดและความท้าทายต่างๆ ด้วยความเข้มแข็งและยืดหยุ่นของคนไทย และผมดีใจมากที่เป็นความร่วมมือที่เป็นมิตรระหว่างจีนและไทยสามารถทำให้เราเอาชนะความยากลำบากได้อย่างสวนกระแส สิ่งที่ผมประทับใจแท้จริงแล้วมีอยู่เยอะมาก แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือมิตรภาพที่แท้จริงระหว่างสองฝ่ายดังคำกล่าวที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

มิตรภาพแบบนี้สะท้อนให้เห็นจากคุณลักษณะที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างสองประเทศ คือมีภูเขาและสายน้ำที่เชื่อมต่อกัน มีวัฒนธรรมและสายเลือดที่ใกล้ชิดกัน สะท้อนให้เห็นได้จากการติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ สะท้อนให้เห็นได้จากการที่ทั้งสองประเทศได้ช่วยเหลือกันและกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขและลงเรือลำเดียวกันในการต่อสู้กับโรคระบาด สะท้อนให้เห็นได้จากความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองฝ่ายจนสามารถบรรลุการพัฒนาได้แบบสวนกระแส และสะท้อนให้เห็นได้จากการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหม่ในการสร้างประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมระหว่างจีน-ไทย

ร่วมแรงร่วมใจ รังสรรค์งานใหญ่ มิตรภาพนับพันปี เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ เชื่อว่าภายใต้การนำร่วมกันของผู้นำจีนและไทย และด้วยความพยายามร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ ความสัมพันธ์จีน-ไทยจะมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง