รีเซต

สรท. คงตัวเลขส่งออกโต 3-4% จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้น-มีวัคซีนใช้

สรท. คงตัวเลขส่งออกโต 3-4% จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้น-มีวัคซีนใช้
ข่าวสด
2 มีนาคม 2564 ( 15:07 )
31

สรท. คงตัวเลขส่งออกโต 3-4% จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้น-มีวัคซีนใช้ ขณะที่ค่าเงิน ตู้คอนเทนเนอร์-แรงงานขาดแคลนยังเป็นอุปสรรค

 

สรท. คงส่งออกโต3-4% - น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 เช่น เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 เป็น 5.5% จาก 5.2% การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI Index) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิน 50 ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการผลิตกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าขั้นกลาง เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

รวมทั้ง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจของประเทศคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

 

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ ปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย สวนทางกับความต้องการนำเข้าสินค้าที่มากขึ้น

 

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค และแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการอพยพกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมา ส่งผลโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคการผลิต

 

สรท. มีข้อเสนอแนะให้กับภาครัฐคือ ขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

 

เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ด้วยการออกมาตรการต่างๆ เช่น ขอให้ภาครัฐเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ตกค้างในต่างประเทศกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มปริมาณตู้หมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน