รีเซต

ต่ำสุดรอบ 3 ปี! ส่อแววทรุดยาวจี้รัฐบาลแก้ปัญหาตรงจุด เสี่ยงตกงาน 10 ล้านคน

ต่ำสุดรอบ 3 ปี! ส่อแววทรุดยาวจี้รัฐบาลแก้ปัญหาตรงจุด เสี่ยงตกงาน 10 ล้านคน
ข่าวสด
9 สิงหาคม 2564 ( 16:10 )
32

 

ต่ำสุดรอบ 3 ปี ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ไตรมาส 2 ปี 64 ส่อแววทรุดต่อเนื่องยาว เสี่ยงตกงาน10 ล้านคน จี้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ถูกจุด

 

 

วันที่ 9 ส.ค.2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการหรือโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ครอบคลุมโมเดริ์นเทรดกว่า 60% ของไทยทั้งห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ครอบคลุมตลาด 60% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย

 

 

" พบว่าสถานการณ์โดยรวม เช่น ยอดขาย กำไร จำนวนลูกค้า ราคาขายสินค้า การจ้างงาน ความสามารถในการแข่งขันนั้น แย่กว่าไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้วทั้งหมด แสดงว่าสถานการณ์ของไทยขณะนี้ถือว่าหนักหน่วงมากพอสมควร และมองว่าในอนาคตในไตรมาส 3 ปีนี้ก็ยังเห็นว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้น และกังวลว่าสินค้าคงคลังจะเหลือมากขึ้นหากสถานการณ์โควิดไม่ดีขึ้น "

 

 

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการหรือโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 45.3 ถือเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปีหรือ 12 ไตรมาส นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในไตรมาส 3 ปี 2561 โดยมีปัจจัยลบ คือการแพร่ระบาดของโควิดรอบ 3 ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆการล็อกดาวน์ในจังหวัดต่าง ๆ การปิดสถานประกอบการบางประเภท รวมทั้ง การขอให้ประชาชน และหน่วยงานภาครัฐ ทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home ความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งอาจทำให้สถานการณ์โควิด ยืดยาวออกไป และการล็อคดาวน์ในพื้นที่สีแดง

 

 

" การล็อกดาวน์พื้นที่เพิ่มเติม 29 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัด เศรษฐกิจสำคัญ คิดเป็นสัดส่วน 78% ของจีดีพี ประเทศ ส่งผลกับเศรษฐกิจภาพรวมเสียหาย 400,000-500,000 ล้านบาทต่อเดือน หนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลทำให้การใช้จ่ายของภาคประชาชนให้ลดลง มีผลกับยอดขาย และลูกค้าในธุรกิจค้าปลีกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และมีมูลค่าความเสียหายแล้วประมาณ 2.7 แสนล้านบาท "

 

 

นายธนวรรธน์ ระบุด้วยว่า ขณะที่ปัจจัยบวกคือมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2,3 เช่น โครงการ คนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม.33เรารักกัน เป็นต้น การฉีดวัคซีนเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นและสถานการณ์โควิดทั้งโลกปรับตัวดีขึ้น มาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 0.50% ต่อปี

 

 

ข้อเสนอแนะที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการและแก้ไข คือ เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนครอบคลุมมากที่สุดโดยเฉพาะพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ในมาตรการป้องกันโควิด-19 และให้บริการตรวจโรคโควิด-19 กระจายสู่ประชาชนโดยทั่วทุกภูมิภาคให้เร็วที่สุด และมากที่สุด โดยเฉพาะเขตหรือจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก รัฐบาลควรมีมาตรการดูแลและตรวจสอบร้านค้าที่ขึ้นราคาสินค้าแบบไม่มีเหตุผลในช่วงสถานการณ์โควิด เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะการขึ้นราคาของอาหารที่สั่งผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆว่ามีการเอาเปรียบผู้ประกอบการและผู้บริโภคหรือไม่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย ขอให้เพิ่มจำนวนวงเงินโครงการช้อป ช่วย ชาติ เป็น 100,000 บาทโดยไม่จำกัดหมวดสินค้า เป็นต้น

 

ด้าน น.ส.ชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และกรรมการและเลขานุการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การล็อกดาน์ในพื้นทีสีแดง 29 จังหวัด เป็นจังหวัดใหญ่มีกำลังซื้อสูง โดยยอดขายของโมเดิร์นเทรดคิดเป็น 70% ของยอดขายทั้งหมดทั้งประเทศของโมเดิร์นเทรด เฉพาะกทม.-ปริมณทล มีสัดส่วนถึง 41 % ขณะที่ห้างสรรพสินค้าร้านอาหารยอดขายเหลือปัจจุบันเพียงไป 10-20% ร้านสะดวกซื้อที่เปิดซื้อได้ 24 ชม.ยอดขายก็หายไปเช่นกัน และยิ่งมีปัญหาการติดเชื้อของพนักงานในโรงงานส่งผลต่อซัพพลายเชน รวมไปถึงปัญหาการขนส่งที่เจอเคอร์ฟิว ทำให้บางโรงงานที่ผลิตอาหารสดเหลือกำลังการผลิตเพียง 30 % ซึ่งกว่าจะกลับมาได้ก็ประมาณเดือนต.ค.

 

 

“ตั้งแต่มีการระบาดของโควิดเราพยายามพยุงการจ้างงานมาตลอดไม่อยากให้มีการจ้างงาน ในส่วนของเรามีผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ อยู่กับเรากว่า 1.2 ล้านราย และมีแรงงานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งก็พยายามไม่ให้มีการเลิกจ้าง รวมทั้งช่วยซื้อผลผลิตการเกษตรที่ตกต่ำมาขายในห้าง ไม่มีการขึ้นราคาสินค้าแม้ว่าจะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับซอฟท์โลนแต่ภาครัฐก็จัดให้ไม่ทั่วถึงซึ่งหากภายใน 30 วันนนี้ยังไม่ได้รับการจัดสรรก็อาจทำให้ร้านค้าต่าง ๆในห้างปิดกิจการไปกว่าแสนราย”

 

 

 

 

ส่วน นายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด โดยธุรกิจค้าปลีก ซึ่งถือเป็นตัวกำหนดจีดีพี ประเทศ ต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกรายย่อย ต้องการเข้าถึงโครงการคนละครึ่ง เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ การขยายเวลาการลดภาษีจนถึงปี 2565 เพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงมีสภาพคล่องและรักษาการจ้างงานไว้ การดูแลในเรื่องของการสนับสนุนสาธารณูปโภคของนิติบุคคลเช่นเดียวกับการที่รัฐบาลช่วยเหลือ ประชาชนทั่วไป เพื่อลดต้นทุนรายจ่ายคงที่ของภาคธุรกิจทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง