'บิ๊กตู่' ถอยคำสั่งคุมสื่อ ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ฝ่ายค้านลุยยื่นปปช.ไต่สวน-ดำเนินคดี ใช้อำนาจขัดรธน.
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายการงานว่ากรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ (พช.) นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เดินทางยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.ขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีออกประกาศฉบับที่ 29 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่มีเนื้อหาปิดกั้นสื่อ
ส่อผิด4ข้อ-กระทบเก้าอี้แน่
นายสุทินกล่าวว่า กรณีศาลแพ่งวินิจฉัยให้คุ้มครองชั่วคราวประกาศฉบับที่ 29 เท่ากับข้อกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับใช้ ฝ่ายค้านไปศึกษาคำวินิจฉัยของศาลแพ่งเพิ่มเติม เห็นว่าการกระทำของนายกฯ และรัฐบาลมีความผิดอย่างน้อย 3-4 กระทง คือ 1.จำกัดสิทธิบุคคลในเรื่องเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2.มาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้บุคคลเสียหาย และ 4.น่าจะผิดต่อประมวลจริยธรรมที่เข้าข่ายขัดจริยธรรม ดังนั้น จึงรวมกันมายื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับนายกฯ เมื่อวินิจฉัยแล้วพบว่ามีความผิด ก็ส่งเรื่องนี้ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อศาลประทับรับฟ้องจะต้องมีการสั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรืออื่นใดสุดแล้วแต่ศาล เชื่อว่าเมื่อผิดตามข้อกล่าวหาทั้งหมดก็จะกระทบต่อสถานภาพของนายกฯแน่นอน ถือเป็นการถอดถอนผ่านทางคดีอาญา
บิ๊กตู่ ยกเลิกประกาศปิดปากสื่อ
วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่ง เรื่อง ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 31) ซึ่งเป็นคำสั่งที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามคำสั่งฉบับที่ 29 หลังศาลสั่งคุ้มครองวันก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2564 นั้น
โดยที่ได้มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2564 แต่ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ศบค.เห็นว่า แม้จะเป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอในเหตุฉุกเฉินซึ่งศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้คู่ความเพราะอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น และคู่ความอาจยื่นคำขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งนั้นได้ตามมาตรา 267 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เมื่อปรากฏว่าในทางปฏิบัติยังไม่ได้บังคับใช้ข้อกำหนดนั้นแก่กรณีใดและเจ้าหน้าที่อาจนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ได้ตามที่ศาลกล่าวถึง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นายกฯจึงออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
รบ.เผยมีกม.อื่นบังคับใช้แทน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนและเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ออกข้อกำหนดข้อ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ในกรณีนี้เมื่อ ศบค.เห็นว่าเมื่อในทางปฏิบัติยังไม่มีการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวในกรณีใดๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็สามารถนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ตามที่ศาลกล่าวถึง ในวันนี้นายกฯจึงมีการออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29
ดังกล่าวแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมเป็นต้นไป และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว