รีเซต

หุ้น-ราคาน้ำมันดิบร่วงทั่วโลก หลังโมเดอร์นาชี้ วัคซีนที่มีเอา โอไมครอน ไม่อยู่

หุ้น-ราคาน้ำมันดิบร่วงทั่วโลก หลังโมเดอร์นาชี้ วัคซีนที่มีเอา โอไมครอน ไม่อยู่
มติชน
30 พฤศจิกายน 2564 ( 17:21 )
19
หุ้น-ราคาน้ำมันดิบร่วงทั่วโลก หลังโมเดอร์นาชี้ วัคซีนที่มีเอา โอไมครอน ไม่อยู่

สำนักข่าวเอเอฟพีและซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาน้ำมันดิบร่วงลงหนักอีกครั้งในวันที่ 30 พฤศจิกายน หลังจากเพิ่งฟื้นตัวได้เพียงวันเดียวจากการเทขายอย่างหนักเพราะการพบเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ตลาดส่วนใหญ่ปรับลดลงหลังจากนายสเตฟาน บองเซล ซีอีโอของโมเดอร์นา ออกมาให้ความเห็นว่าวัคซีนที่มีอยู่ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโอไมครอน

 

โดยดัชนีหุ้นดาวโจนส์ฟิวเจอร์ ร่วงลง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลกระทบถึงตลาดหุ้นในเอเชียพากันร่วงลงหนัก โดยดัชนีคอสปิของเกาหลีใต้รูดลงมากที่สุดถึง 2.4 เปอร์เซ็นต์, นิกเกอิ 225 ของญี่ปุ่นปิดลดลง 1.6 เปอร์เซ็นต์, หั่งเส็งของฮ่องกง ร่วงลง 1.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปซึ่งเพิ่งเปิดตลาดก็ร่วงลงทันที กว่า 1 เปอร์เซ็นต์

 

ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ซึ่งใช้อ้างอิงสำหรับตลาดระหว่างประเทศ ร่วงลงอีก 2 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอ ก็ร่วงหนักพอๆ กัน ตกลงซื้อขายกันที่ 69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ในขณะที่การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโอไมครอน ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักพากันปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปีหน้าลง โดยออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ จัดทำรายงานคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าใหม่ และชี้ว่าในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด จีดีพีของโลกอาจลดลงถึงครึ่งหนึ่งในปีหน้าสืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อโอไมครอน

 

นายเกรกอรี ดาโก หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิค ระบุว่า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด คือ โอไมครอนก่อให้เกิดอาการป่วยค่อนข้างเบา และ วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ผลกระทบจากโอไมครอนจะไม่มากนัก โดยจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงเพียง 0.25 จุดเปอร์เซ็นต์

 

แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเชื้อโอไมครอน กลายเป็นเชื้ออันตรายร้ายแรง และส่งผลให้ส่วนใหญ่ของโลกต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง อัตราการขยายตัวของโลกจะลดลงมาก เหลือเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ก่อนโอไมครอนระบาด

 

นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์กันด้วยว่า การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้อาจส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ชะลอหรือเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป จนกว่าภาพรวมของการระบาดจะกระจ่างชัด โดยที่ กองทุนสำรองแห่งสหรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐมีกำหนดจะประชุมกันในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ต่อด้วยการประชุมของธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางแห่งอังกฤษ ในวันถัดไป