รีเซต

ดึงร้านกาแฟ-เบเกอรี่-เย็บผ้ายื่นจำนองเครื่องจักรนำทุนฟื้นกิจการ

ดึงร้านกาแฟ-เบเกอรี่-เย็บผ้ายื่นจำนองเครื่องจักรนำทุนฟื้นกิจการ
มติชน
12 พฤษภาคม 2563 ( 07:54 )
85
ดึงร้านกาแฟ-เบเกอรี่-เย็บผ้ายื่นจำนองเครื่องจักรนำทุนฟื้นกิจการ

กรอ.ของบฟื้นฟูไมโครเอสเอ็มอี ดึงร้านกาแฟ-เบเกอรี่-เย็บผ้ายื่นจำนองเครื่องจักรนำทุนหมุนเวียนหลังโควิดกระทบหนัก จับมือแบงก์ปล่อยกู้เริ่มต้น2แสน-1ล้านบาท เดินหน้ามิ.ย.นี้

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ว่า กรอ.ได้สำรวจผลกระทบและทราบถึงปัญหาของผู้ประกอบการ ล่าสุดจึงอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับเล็กมาก หรือไมโครเอสเอ็มอี ให้สามารถนำเครื่องจักรมาแปลงเป็นสินทรัพย์ ใช้เป็นเงินทุนนำกลับมาใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจได้ โดยจะเป็นหนึ่งในมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเสนอใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการของกรอ.นี้จะใช้วงเงินหลักร้อยล้านบาทเพื่อดำเนินการสำรวจไมโครเอสเอ็มอีที่เข้าข่าย อบรมความรู้ คาดว่าจะเปิดตัวโครงการได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

นายประกอบ กล่าวว่า รูปแบบโครงการ กรอ.จะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนจำนวนหนึ่ง จากนั้นจะเปิดให้เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี มาจดทะเบียนเครื่องจักร หรือเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ภายใต้ พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร ของ กรอ. จาก

นั้นจะมีการประเมินราคาเครื่องจักร เพื่อนำไปเป็นตัวค้ำประกัน ผ่านกลไกของสถาบันการเงินที่เข้าร่วม โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้ กำหนดวงเงินสินเชื่อเริ่มต้น 2 แสนบาท – 1 ล้านบาท และกำหนดอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ

“กรณีไมโครเอสเอ็มอีที่เป็นขนาดเล็กมาก อาจเป็นเครื่องชงกาแฟ เครื่องอบขนมปัง เครื่องอบอาหาร ทั้งร้านทั่วไป หรือตามโรงแรมที่ถูกกระทบหนักจากโควิด-19 หรืออาจเป็นกลุ่มจักรเย็บผ้า เครื่องมือในการทำธุรกิจต่างๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้กรอ.จะส่งทีมเข้าไปประเมิน ประสานงาน เพื่อแปลงเป็นทุนในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ให้ผู้ประกอบการใช้เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจ เพราะขณะนี้หลายกิจการยังปิดดำเนินการภายใต้คำสั่ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.)”นายประกอบกล่าว

นายประกอบ กล่าวว่า ที่ผ่านกรอ.เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นจำนองเครื่องจักรอยู่แล้ว มีหลากหลายอุตสาหกรรม หลายธุรกิจ แต่ยังไม่มีความร่วมมือลักษณะนี้ จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินที่ไปขอ อาจทำให้ผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือวงเงินที่น้อยเกินไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวเลขการจดจำนองเครื่องจักรจากสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 เดือน มีผู้ประกอบการจดทะเบียนเครื่องจักรแล้ว 319 ราย เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนวน 1,664 เครื่อง มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท จำนวนนี้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินแล้ว 50 ราย เครื่องจักรที่เป็นหลักทรัพย์ฯ 595 เครื่อง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง