รีเซต

กทม.ปรับระบบคัดกรองผู้ป่วยโควิด นำกลุ่ม 608 เข้ารักษาใน รพ.ทันที เร่งฉีดวัคซีนลดตาย

กทม.ปรับระบบคัดกรองผู้ป่วยโควิด นำกลุ่ม 608 เข้ารักษาใน รพ.ทันที เร่งฉีดวัคซีนลดตาย
มติชน
7 เมษายน 2565 ( 16:13 )
63

วันนี้ (7 เมษายน 2565) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. โดยสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมแนวทางปฏิบัติในการจัดระบบคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม 608 หรือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเด็กเล็กของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. รวมทั้งการประสานส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) ทันที เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด-19 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด

 

นายขจิต กล่าวว่า ทั้งนี้ สำนักอนามัย มีระบบในการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นกลุ่ม 608 โดยใช้แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อใน รพ.หากพบว่าผู้ติดเชื้อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ 1.อายุมากกว่า 60 ปี 2.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ 3.โรคไตเรื้อรัง 4.โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมโรคหัวใจแต่กำเนิด 5.โรคหลอดเลือดสมอง 6.เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 7.ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม) 8.ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ 9.หญิงตั้งครรภ์ หรือเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ผ่านช่องทางสายด่วน 1330 กด 18 ของ สปสช. หรือมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข

 

“หากพบว่าผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ศูนย์บริการสาธารณสุขจะรับดูแลและส่งคำร้องขอเตียงไปยังศูนย์เอราวัณ กทม. เพื่อรอเข้ารับการรักษาใน รพ.สนาม / รพ.ทั่วไป /ฮอสปิเทล (Hospitel) โดยระหว่างที่รอการส่งต่อเข้ารับการรักษาใน รพ. ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบ Home Isolation (HI) จากศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับยารักษาโดยเร็วที่สุดจนกว่าจะได้รับการจัดสรรเตียงในรพ. ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มสีเหลืองที่สามารถใช้สิทธิยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) และสามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ทุกแห่ง นอกจากนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ยูเซ็ป พลัส และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไปขอรับบริการ ณ คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI clinic) และทางออนไลน์ และดำเนินการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีระบบการคัดแยกผู้ป่วย และระบบดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการระดับต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ยูเซ็ป พลัส และแนวทางที่ สธ.กำหนด โดยจะเน้นระบบการคัดกรองและระบบการส่งต่อกลุ่มเสี่ยง 608 และกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพื่อประสานส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน รพ.ได้ทันท่วงที” นายขจิต กล่าว

 

ปลัด กทม.กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อปรับเข้าสู่การคัดแยกผู้ป่วย ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยจะมีศูนย์เอราวัณเป็นหน่วยประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ.ตามระดับความรุนแรง โดยสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในสังกัดสำนักการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2565) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,498 เตียง (รพ.หลัก 631 เตียง รพ.สนาม 1,554 เตียง และฮอสปิเทล 1,313 เตียง) มีอัตราครองเตียงรวม ร้อยละ 80.07 พร้อมสนับสนุนแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของ สธ. รักษาฟรี “ยูเซ็ป โควิด พลัส” ได้ทุก รพ. รวมถึงรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ ซึ่งจำแนกเกณฑ์อาการโควิด-19 แบ่งเป็น ผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง สีแดง ให้ชัดเจน ตามหลักเกณฑ์การจำแนกอาการโควิด-19 ดังนี้

 

1.ยูเซ็ป โควิด พลัส (UCEP COVID-19 Plus) ย่อมาจาก Universal Coverage for Emergency Patients Plus เป็นเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดงและสีเหลือง รวมถึงสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง

 

2.แนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยยังได้รับการรักษาฟรีทุกราย โดยแบ่งตามกลุ่มระดับอาการโควิด ดังนี้ ผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย คือ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น กลุ่มนี้เข้ารับการรักษาได้ฟรี ใน รพ.ตามสิทธิ ได้แก่ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม โดยกักตัวที่บ้าน (HI) กักตัวในชุมชน (CI) ฮอสปิเทล หรือเข้าโครงการ “เจอ แจก จบ” ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ผู้ป่วยสีเหลือง มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน กลุ่ม 608 กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ และรักษาฟรีกับยูเซ็ป พลัส ได้ทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ป่วยสีแดง มีอาการหอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค หายใจเจ็บหน้าอก มีไข้สูงกว่า 39 องศาฯ นานกว่า 24 ชั่วโมง (ชม.) ค่าออกซิเจนน้อยกว่า ร้อยละ 94 กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ และรักษาฟรีกับยูเซ็ป พลัส ได้ทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม สามารถติดต่อ ศูนย์เอราวัณ 1669 สปสช.1330 กด14 สบส.1426 ยูเซ็ป พลัส โทร.0 2872 1669

 

3.ปรับลดวันรักษานอน รพ.จาก 10 วัน เหลือ 7 วัน สำหรับจำนวนวันรักษาโควิด-19 ใน รพ. ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 10 วัน จะมีการหารือปรับลดเป็นลักษณะ 7 + 3 คือ รักษาใน รพ. 7 วัน และกลับไปแยกกักตัวที่บ้านต่ออีก 3 วัน แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาบนหลักของความปลอดภัยโดยแพทย์ ส่วนยารักษาโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ ที่สธ.จัดสรรมาจะใช้ทั้งในกลุ่ม 608 และคนทั่วไป

 

ทั้งนี้ นายขจิต กล่าวว่า ยูเซ็ป พลัส ผู้ติดเชื้ออาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารักษาใน รพ.ได้ทุกแห่งจนหายป่วย ไม่จำกัดแค่ 72 ชม.เหมือนยูเซ็ปปกติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องส่งต่อไป รพ.อื่นในเครือข่ายจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่ รพ.นอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียวจะให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยัง รพ.อื่นโดยใช้สิทธิยูเซ็ป พลัส ได้เช่นกัน ส่วนการใช้สิทธิยูเซ็ป พลัส ผู้ติดเชื้อสิทธิบัตรทองกลุ่มอาการสีเหลืองหรือสีแดง ยังเข้ารับการรักษา รพ.ใดก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษหรืออาหารพิเศษนอกเหนือสิทธิประโยชน์ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ไปรับบริการสถานพยาบาลปฐมภูมิในระบบบัตรทองได้ทุกที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดง สามารถส่งต่อไป รพ.เพื่อรับการรักษาจนหายได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นกัน

 

“สำหรับยูเซ็ป พลัส ต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก 2.มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาฯ มากกว่า 24 ชม. หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อแรกรับน้อยกว่า ร้อยละ 94 3.มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย คือเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ หญิงตั้งครรภ์ สามารถโทรแจ้งศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งจะประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น และกรอกรายละเอียดอาการผ่านโปรแกรม PA ของศูนย์เอราวัณ หากเข้าเกณฑ์ยูเซ็ป พลัส จะสามารถใช้สิทธิได้ทันที” นายขจิต กล่าว

 

นอกจากนี้ ปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.ดำเนินมาตรการเชิงรุกและเร่งสำรวจผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 กำหนดให้บริการระหว่างวันที่ 24 มีนาคม-วันที่ 29 เมษายน 2565 เพื่อรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เข็มกระตุ้นให้แก่ผู้สูงอายุ ณ จุดฉีดต่าง ๆ ทั้งในและนอก รพ. บริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน ให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า  จองผ่านแอพพลิเคชั่น “QueQ” และเปิดวอล์ก อิน (Walk in) ทั้ง 11 รพ.ในสังกัด กทม.อย่างต่อเนื่อง

 

“จากสถิติการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 2,820,474 โดส (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2565) โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่ รพ.หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทาง รพ.ในสังกัด กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร และชมรมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงจะไม่สามารถป้องกันการติดโรคได้ร้อยละ 100 แต่หากติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถลดอาการหนัก หรือลดการเสียชีวิต จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันตนเอง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ลงชุมชนในพื้นที่ใกล้ รพ.เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับกลุ่มผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมายังจุดบริการวัคซีน และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายขจิต กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง