รีเซต

'ตรัง' ยกระดับคุมพื้นที่ 10-30 เม.ย.นี้ ปิดห้างสรรพสินค้ายกเว้นแผนกอาหาร ยา โรงแรม

'ตรัง' ยกระดับคุมพื้นที่ 10-30 เม.ย.นี้ ปิดห้างสรรพสินค้ายกเว้นแผนกอาหาร ยา โรงแรม
มติชน
9 เมษายน 2563 ( 13:10 )
77

ตรังเตรียมออกคำสั่งยกระดับคุมพื้นที่ปิดเมือง 10-30 เม.ย. ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นแผนกอาหาร ยา โรงแรม หวังสกัดคนนอกนำเชื้อเข้าพื้นที่ หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อ 7 คนเป็นคนนอกนำเข้าพื้นที่ 5 ราย ติดกันเอง 2 ราย

 

วันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดตรัง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง ที่มีนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าฯเป็นประธาน ได้มติให้ทางจังหวัดยกระดับการป้องกันพื้นที่จังหวัดตรังไม่ให้บุคคลภายนอกนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ หลังพบว่าผู้ป่วยทั้ง 7 รายของจังหวัดตรัง เป็นคนติดเชื้อจากจังหวัดอื่น และต่างประเทศ (แบ่งเป็นติดเชื้อจากจ.ภูเก็ต 3 ราย จากต่างประเทศ 2 ราย และติดกันเอง 2 ราย (แพทย์) ) ประกอบกับพบว่ายังมีคนลื่นไหลของคนจากประเทศมาเลเซีย ภูเก็ต กระบี่ สงขลา พัทลุง รวมทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และล่าสุดจังหวัดตรังยกให้จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดเพิ่มอีก 1 จังหวัดหลังพบผู้ป่วยพุ่ง

 

โดยทางจังหวัดเตรียมออกคำสั่งยกระดับสกัดคนเข้าจังหวัดตรังเข้มข้นเพิ่มเติมจากประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล นับจากวันที่ 10 – 30 เมษายนนี้ หวังสกัดกั้นคนจากนอกนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย 1.มาตรการลดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่เสี่ยง เช่น ปิดห้างสรรพสินค้ายกเว้นในส่วนซึ่งเป็นแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยาแผนกอาหาร แผนกสินค้าจำเป็น สินค้าวัสดุก่อสร้าง ธนาคาร แผนกระบบการสื่อสาร ร้านอาหาร รถเข็น ให้ซื้อกลับ โรงแรมบางแห่งที่เข้าหลักเกณฑ์กำหนด ยกเว้นโรงแรมที่ทางราชการใช้เพื่อการป้องกันและควบคุมเพื่อการแพร่ระบาด

 

 

และ 2.มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการปิดช่องทางเข้า -ออก ในพื้นที่จังหวัดตรัง ยกเว้นด้านการแพทย์ -พยาบาล ขนส่งสินค้า ผลผลิตการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง พัสดุภัณฑ์ เป็นต้น คนตรังที่เข้ามาในพื้นที่จะต้องมีใบรับรองแพทย์ และต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน

 

ส่วนคนที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่หากเข้ามาแล้วห้ามออกจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉิน ชาวต่างประเทศจะต้องมีใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ประกันภัย และต้องกักตัวเอง 14 วัน กรณีกักตัวเองในสถานที่กักกันกลางของแต่ละอำเภอ ชาวต่างชาติจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด จังหวัดจะไม่ออกให้ เป็นต้น และที่ประชุมมีมติเลือกมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัยตรัง เป็นโรงพยาบาลสนาม

 

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 จังหวัดตรัง พบผู้ติดเชื้อสะสม 7 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 5 คน รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 2 คน เป็นภรรยาและสามี โดยสามีเป็นชาวต่างชาติและเป็นผู้ป่วยรายล่าสุด (รายที่ 7) ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 185 คน ไม่พบเชื้อ 166 คน รอผลการตรวจ 12 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง