รีเซต

จีนพบหลักฐาน 'ลมกัดเซาะ' บน 'ดาวอังคาร'

จีนพบหลักฐาน 'ลมกัดเซาะ' บน 'ดาวอังคาร'
Xinhua
12 มีนาคม 2565 ( 00:00 )
89
จีนพบหลักฐาน 'ลมกัดเซาะ' บน 'ดาวอังคาร'

 

ปักกิ่ง, 11 มี.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาใหม่ชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า จุดที่ยานจู้หรง หรือยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีนลงจอดนั้น เคยเผชิญกับการกัดเซาะจากลมและอาจรวมถึงการกัดเซาะจากน้ำ ซึ่งช่วยให้มีหลักฐานมากขึ้นเกี่ยวกับลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้

 

ผลการศึกษาข้างต้น ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ จีโอไซแอนซ์ (Nature Geoscience) ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ยานจู้หรงรวบรวมได้ตลอด  60 วันแรกบนดาวอังคาร ซึ่งในช่วงเวลานี้ยานจู้หรงเดินทางเป็นระยะทางราว 450 เมตร

 

หลังมีการศึกษาหินหลายก้อนบริเวณพื้นผิวผ่านภาพที่ถ่ายโดยกล้องของยาน คณะนักวิจัยซึ่งนำโดยติงเลี้ยง  จากสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน พบว่าดินของดาวอังคารมีกําลังรับแรงแบกทานสูง และมีหลักฐานที่ชี้ถึงการถูกกัดเซาะโดยลม โดยคณะนักวิจัยยังได้ระบุลักษณะของภูมิประเทศหลายๆ แบบ เช่น สันเขา รอยริ้วคลื่น และปล่องภูเขาไฟที่สึกกร่อน ซึ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกลมพัดผ่านมายาวนาน

 

นอกจากการกัดเซาะจากลมแล้ว  นักวิจัยยังสังเกตเห็นว่าเนื้อหินบางก้อนมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามันเคยมีปฏิสัมพันธ์กับน้ำเค็มมาก่อน

อนึ่ง ยานจู้หรงลงจอดบนที่ราบขนาดมหึมาที่เรียกว่ายูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ทางซีกเหนือของดาวอังคารเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2021 และได้รวบรวมตัวอย่างและถ่ายภาพขณะสำรวจดาวอังคารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่ายูโทเปีย พลานิเทียเป็นพื้นที่ภูเขาไฟที่มีอายุพื้นผิวคาดการณ์มากกว่า 3 พันล้านปี และในอดีตอาจเคยมีน้ำที่มีสถานะเป็นของเหลวหรือน้ำแข็งปริมาณมาก

 

นักวิจัยกล่าว่าการค้นพบครั้งนี้ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นผิวดาวอังคารและวิวัฒนาการของที่ราบทางตอนเหนือของดาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง