รีเซต

ส.ส.3 จว.ชายแดนใต้ ถกเร่งด่วนช่วยปชช.รับผลกระทบ "โควิด-19"

ส.ส.3 จว.ชายแดนใต้ ถกเร่งด่วนช่วยปชช.รับผลกระทบ "โควิด-19"
มติชน
6 เมษายน 2563 ( 09:10 )
162
2

ส.ส.จว.ชายแดนใต้ 3 พรรค รวมตัวหาแนวทางแก้ปัญหาฉุกเฉินผู้รับผลกระทบจาก “โควิด-19”

โควิด-19 วันที่ 6 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งว่าล่าสุดในส่วนภาคการเมืองมีการประชุมเร่งด่วน มีการเคลื่อนไหวของเพื่อน ส.ส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ สืบเนื่องด้วยสถานการณ์ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต

พญ.เพชรดาว ระบุว่า ในการหารือครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากลงพื้นที่พบปะประชาชนและได้รับการร้องขอ ร้องเรียนทั้งเรื่องภายในและภายนอกประเทศ โดยมี ส.ส.เข้าร่วมหารือ 4 คน คือ ตน พร้อมด้วยนายสมมุติ เบญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4 พรรคประชาชาติ นายอับดุลบาซิม อาบู ส.ส.ปัตตานี เขต 2 พรรคภูมิใจไทย นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส. และอดีตสมาชิกวุฒิภา (ส.ว.)

พญ.เพชรดาว ระบุว่า สรุปเบื้องต้นให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน ส.ส.จชต.เพื่อรับมือกับผลกระทบอันเกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับวัตถุประสงค์การจัดตั้งศูนย์ฯ 1.ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล เพื่อประสานข้อร้องเรียนและปัญหาของประชาชนในระดับต่างๆไปยังภาครัฐทั้งหน่วยงานในระดับจังหวัด ศอ.บต. และกระทรวงต่างๆ ให้แก้ไข 2.ออกแบบการสื่อสารในระดับพื้นที่ เพราะประชาชนหลายส่วนยังขาดข้อมูล ขาดความเข้าใจมาตรการการช่วยเหลือในรูปแบบต่างที่มีอยู่ ขณะที่ตัว ส.ส.เองจะต้องช่วยกันเป็นแบบอย่างที่ดี
3.ร่วมกันผลักดันให้มีการนำงบประมาณกระจายลงมาสู่พื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตัวอย่างเช่น ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำลังวางแผนที่จะใช้งบประมาณในการทำอาหาร ถุงยังชีพ หรือครัวมัสยิด ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในระดับชุมชน
4.ร่วมกันหาหนทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“ทั้งนี้มีประเด็นเร่งด่วน 1.ประสานความร่วมมือกับ ส.ส.คนอื่นๆ รวมทั้งจัดตั้งไลน์กลุ่มเพื่อการสื่อสารภายใน
2.ประสานงานกับ ศอ.บต. จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัด เพื่อเตรียมการรับมือแรงงานในมาเลเซียที่กำลังจะกลับบ้าน ทั้งเรื่องการจัดระเบียบและอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนเข้าสู่เขตพื้นที่ของแต่ละจังหวัด การจัดด่านคัดกรอง การจัดสถานที่กักตัว – State Quarantine, Local Quarantine, Home Quarantine การให้ความรู้แก่แรงงานที่กลับบ้านในการป้องกันตัวเอง การจัดหาอาหาร การสนับสนุนด้านปัจจัยยังชีพ” พญงเพชรดาว ระบุ

นอกจากนี้ พญ.เพชรดาว ระบุว่าด้วยว่า นอกจาก 2 ประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังเตรียมประเด็นแก้ไขปัญหาสำหรับอนาคตไว้ด้วย คือ 1.การช่วยเหลือหรือมาตรการสำหรับเดือนรอมฎอนที่กำลังจะมาถึง 2.มาตรการทางด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่

ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุด จ.ปัตตานี มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 ราย ยอดสะสม 46 ราย จ.ยะลา เพิ่ม 1 ราย ยอดสะสมที่ 52 ราย จ.นราธิวาส ยอดผู้ป่วยสะสม 21 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง